ในปีที่ผ่านมา มีข่าวมากมายเกี่ยวกับผลกระทบของขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม สัตว์ทะเลมากมายที่ต้องตายเพราะพลาสติกที่พวกมันกินเข้าไปการสูญเสีย “มาเรียม” พะยูนน้อยขวัญใจชาวไทย ก็มีเหตุจากการกินพลาสติกเป็นปัจจัยหนึ่ง หรือแม้แต่กวางป่าในอุทยานแห่งชาติที่ตายเพราะกินถุงพลาสติกเข้าไป เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ประชาชนชาวไทยเริ่มหันมาสนใจผลกระทบของขยะพลาสติกต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
รัฐบาลมีมาตรการเด็ดขาดในปี 2563 ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ส่วนภาคเอกชนเองก็มีนโยบายงดแจกถุงในร้านสรรพสินค้า สนับสนุนให้ประชาชนใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก อาจจะพูดได้ว่าทุกคนที่หันมาใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกคงจะภูมิใจไม่น้อยที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยโลก
ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ภูมิใจกับสิ่งนี้ จนกระทั่งได้มีโอกาสอ่านรายงานจากกระทรวงการสิ่งแวดล้อมและอาหารของประเทศเดนมาร์คที่มีใจความสำคัญว่า ถุงพลาสติกนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงผ้า เพราะพบว่าเมื่อเทียบกันแล้วนั้น ถุงผ้าส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้ถุงพลาสติกเสียอีก! เราต้องใช้ถุงผ้าอย่างน้อย 131 ครั้ง เพื่อให้คุ้มค่าต่อการผลิตเมื่อเทียบกับการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียว! ถ้าเช่นนั้นความพยายามของประชาชนอย่างเรา ภาครัฐและเอกชนที่ให้ลดการใช้ถุงพลาสติกและหันมาใช้ถุงผ้านั้นมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างนั้นหรือ? คำตอบคือ... ก็ไม่เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการลดสิ่งแวดล้อมในด้านใด
การศึกษาของเดนมาร์ค (2018) นั้น เป็นการศึกษาแบบที่เรียกว่า “Life Cycle Assessment” หรือ การประเมินวัฏจักรชีวิต ซึ่งจะเป็นการประเมินผลกระทบของวัตถุนั้นๆ ต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของมัน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง การใช้งาน การแปรรูปเพื่อใช้ใหม่ และการกำจัดหลังจากใช้งาน ในกรณีที่จะประเมินว่าวัตถุนั้นมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ก็จะมีปัจจัยมากมายที่นำมาพิจารณา เช่น ปริมาณน้ำ-ไฟฟ้าที่ใช้และผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนในกระบวนการผลิต เชื้อเพลิงที่ใช้ระหว่างการขนส่ง ความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมตอนกำจัด Carbon footprint ที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตและขนส่ง เป็นต้น
ต้นทางการผลิตถุงผ้านั้น ต้องใช้ฝ้ายหรือพืชที่ให้เส้นใยผ้าซึ่งต้องมีการใช้พื้นที่ไร่นาและน้ำมากมายในการผลิต บางพื้นที่มีการตัดต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่การผลิต เมื่อได้เส้นใยมาแล้วทอเป็นผ้าต้องใช้กระบวนการตัดเย็บ ฟอกสีที่ใช้ทั้งสารเคมีและน้ำจำนวนมาก รวมทั้งมีเศษผ้าเหลือจากการผลิตมากมาย และการขนส่งถุงผ้า 1 ล้านใบ ต้องใช้เชื้อเพลิงและปริมาณรถมากกว่า เมื่อเทียบกับการขนส่งถุงพลาสติกในจำนวนที่เท่ากัน ส่วนการผลิตถุงพลาสติกนั้น ผลิตมาจากผลพลอยได้หรือ By product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีราคาสูง ทุกสิ่งทุกอย่างในกระบวนการผลิตจึงถูกทำให้เกิดมูลค่าทั้งหมด รวมทั้งพลาสติกเอง นักวิชาการบางคนจึงมองว่า การผลิตพลาสติกนั้นดี เพราะแทนที่จะทิ้งทรัพยากรที่เหลือจากการกลั่นไป เอามาทำเป็นพลาสติกจึงดีกว่า สร้างขยะน้อยกว่าการผลิตถุงผ้า เมื่อนำข้อมูลตัวเลขจากปัจจัยเหล่านี้มาเทียบกัน ถุงพลาสติกจึงดูจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงผ้า... แสดงว่าที่เราใช้ถุงผ้ากันเยอะๆแบบนี้ ดีจริงหรือ?
เมื่อเรามองไปถึงจุดเริ่มต้นที่คนไทยรวมถึงคนทั้งโลกต้องการลดพลาสติก คือ การเห็นแพขยะพลาสติกขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่ในเกือบทุกมหาสมุทร ขยะพลาสติกที่พบอยู่ในกระเพาะอาหารของโลมา วาฬ เต่าทะเลมากมายที่สังเวยชีวิตไป ทำให้เห็นว่าปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อม และผลกระทบของขยะพลาสติกต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ถูกนำไปรวมในการประเมิน Life Cycle Assessment จึงเหมือนกับว่าเราและสถาบันการวิจัยนั้นมองไปที่ผลกระทบคนละอย่างกัน สถาบันมองถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งมาจากวัฎจักรชีวิตของถุงพลาสติกและถุงผ้า ในขณะที่คนส่วนใหญ่มองถึงปริมาณขยะ... ในกรณีนี้จึงไม่มีใครผิดหรือถูก เพราะทุกคนล้วนอยากจะลดผลกระทบที่ตนเองมองเห็นทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ในฐานะผู้ที่ต้องใช้ถุงผ้า และถุงพลาสติกอย่างเรา ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้สมดุลต่อการแก้ปัญหาขยะและปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมล่ะ? ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ไม่ว่าคุณจะใช้ถุงผ้า หรือถุงพลาสติก ก็ต้องใช้ให้บ่อยและใช้ให้คุ้มค่า แม้แต่ถุงพลาสติกเองก็สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ถุงพลาสติกสามารถใช้ได้มากถึง 37 ครั้งก่อนที่เราจะทิ้งมัน เมื่อเปื้อนก็ล้างทำความสะอาด อีกทั้งถุงพลาสติกยังพกพาสะดวกและรับน้ำหนักได้มากกว่าตัวมันเองหลายเท่า ส่วนใครที่เลือกใช้ถุงผ้านั้น ก็ควรเลือกที่ไม่พิมพ์ลายมากเกินไป เพื่อลดของเสียและปริมาณการใช้สารเคมีเพื่อฟอกสีและพิมพ์ลาย พกถุงผ้าไปด้วยทุกครั้งที่ซื้อของ เมื่อมีถุงผ้าเยอะแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อถุงใบใหม่ทุกครั้งที่เจอ เพียงใช้ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าก็พอ ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกหรือถุงผ้า จะคุ้มค่าการผลิตก็ต่อเมื่อคุณใช้มันบ่อยครั้งมากพอ เพียงเท่านี้ก็เป็นวิธีเล็กๆที่ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างภาคภูมิ
ผู้เขียน : นริศรา บริกุล
ภาพโดย นริศรา บริกุล
แหล่งอ้างอิง
https://www2.mst.dk/Udgiv/publications/2018/02/978-87-93614-73-4.pdf
http://www.thailcidatabase.net/index.php/history-life-cycle-assessment-lca
https://www.theverge.com/2018/5/12/17337602/plastic-tote-bags-climate-change-litter-life-cycle-assessments-environment
http://theconversation.com/heres-how-many-times-you-actually-need-to-reuse-your-shopping-bags-101097
http://www.niassembly.gov.uk/globalassets/documents/raise/publications/2011/environment/3611.PDF