กาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy)

กาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy)

16-12-2021
กาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy)

        ในค่ำคืนเดือนมืดในฤดูร้อน และปราศจากก้อนเมฆฝน คุณเคยลองมองขึ้นไปบนท้องฟ้ากันบ้างหรือไม่ คุณมองเห็นแถบขาวจาง ๆ พาดผ่านบนท้องฟ้าในแนวเหนือใต้ คุณอาจจะคิดว่านั่นเป็นก้อนเมฆหรือเปล่า แต่ความจริงแล้ว เจ้าสิ่งนี้ ก็คือสถานที่ที่ “โกโบริ” บอกกับ “อังศุมาลิน” ว่า “ฉันจะไปรอเธออยู่ที่......” ใช่แล้วครับ 
นั่นก็คือ “ทางช้างเผือก” นั่นเอง

        โลกของเราเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ที่ชื่อว่า ดวงอาทิตย์ เรียกรวมว่าเป็นระบบสุริยะ แต่ในเอกภพของเรานั้นกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก ไม่ได้มีเพียงแค่ระบบสุริยะของเราเท่านั้น ยังมีระบบของดาวฤกษ์อีกนับแสนล้านระบบหรือพูดง่าย ๆ ว่ามีดาวฤกษ์อีกนับเป็นแสน ๆ ล้านดวง รวมกันอยู่เป็นระบบที่ใหญ่ขึ้นกว่าระบบสุริยะ เราเรียกว่าเป็นเกาะแห่งเอกภพ ดาราจัก หรือ กาแล็กซี (Galaxy) นั่นเองการเรียกชื่อกาแล็กซีของเรานั้นมีชื่อและที่มาแตกต่างกันไป ตามท้องถิ่น ชาวตะวันตกเรียกว่า Milky Way ที่แปลว่า “ทางน้ำนม” เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำนมที่พระเจ้าประทานให้กับพระเยซูในวันประสูติ หรือบางแห่งก็อาจมีตำนานที่แตกต่างกันออกไป ส่วนคนไทยเราเรียกว่า “ทางช้างเผือก” ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อของคนโบราณที่เชื่อว่าช้างเผือกเป็นช้างคู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่สูงศักดิ์ ทางขาว ๆ ที่พาดผ่านบนท้องฟ้าจึงน่าจะเป็นทางเดินของช้างคู่บุญบารมี ก็คือ ทางช้างเผือกนั่นเอง

        กาแล็กซีทางช้างเผือกของเรามีขนาดประมาณ 100,000 ปีแสง* และมีความหนาบริเวณใจกลางประมาณ 10,000 ปีแสง ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์นับแสนล้านดวง มีเศษฝุ่น และกลุ่มแก๊สกระจัดกระจาย โดยบริเวณใจกลางของทางช้างเผือกนักดาราศาสตร์เชื่อว่าเป็นบริเวณของหลุมดำที่ทำให้มีแรงดึงดูดมหาศาลจึงสามารถดึงมวลของวัตถุต่าง ๆ ให้อยู่รวมกันภายในกาแล็กซีได้ บริเวณใจกลางทางช้างเผือกจะมีดาวฤกษ์อยู่กันอย่างหนาแน่น รวมถึงฝุ่นและแก๊สจำนวนมาก ทำให้ฝุ่นและแก๊สเหล่านั้นกระเจิงแสงจากดาวฤกษ์ เราจึงสังเกตเห็นความสว่างมากกว่าบริเวณโดยรอบ (บริเวณแขนกาแล็กซี) ระบบสุริยะของเรานั้นอยู่บริเวณขอบรอบนอกของกาแล็กซีทางช้างเผือก และอยู่ห่างจากใจกลางประมาณ 28,000 ปีแสง

        การสังเกตทางช้างเผือกนั้นสามารถสังเกตเห็นได้ทั้งปี แต่ถ้าเป็นบริเวณใจกลางทางช้างเผือก จะสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม โดยช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ใจกลางทางช้างเผือกจะขึ้นจากขอบฟ้าในทิศตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเช้ามืด และจะขึ้นเร็วขึ้นวันละประมาณ 4 นาที 

        เห็นไหมครับว่าบนท้องฟ้านั้นมีอะไรให้เราได้เห็นมากกว่าที่เราคิด ฝ้าขาวๆ ที่พาดผ่านท้องฟ้า ที่บางคนคิดว่าเป็นแค่ก้อนเมฆที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า แต่ความจริงแล้วแฝงความยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราคาดหมาย และมีอะไรที่น่าค้นหาอีกมากมาย ดังนั้นจงอย่าหยุดที่จะสำรวจเพื่อหาความรู้ใหม่ ๆ ไม่แน่คุณอาจจะได้เป็นคนที่ไปหาโกโบริกับอังศุมาลินบนทางช้างเผือก (นักท่องอวกาศ) ก็เป็นได้

ที่มาภาพ โนบิตะ ฟิสิกส์ 

แหล่งอ้างอิง :
http://www.space.com/19915-milky-way-galaxy.html
http://www.astrodigital.org/ astronomy/milkywaygalaxy.html

เรียบเรียงโดย  นายเชษรฐา ละดาห์

Related