จอสัมผัส หรือจอทัชสกรีน (Touch Screen) เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์โดยการสัมผัสบริเวณต่างๆบนหน้าจอ
อุปกรณ์การสื่อสารในปัจจุบันเช่นSmartphoneหรือ Tabletเป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีหน้าจอสัมผัสเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานซึ่งสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันโดยการทำงานหรือการโต้ตอบกับโปรแกรมต่าง ๆ ผ่านการสัมผัสหน้าจอโดยตรงด้วยความสะดวกและง่ายดายแทนการใช้เมาส์ หรือคีย์บอร์ด
หน้าจอสัมผัสสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ตามกลไกหรือเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ซึ่งอยู่เบื้องหลังการทำงานของหน้าจอแต่ละชนิด
ประเภทหน้าจอสัมผัส
1.หน้าจอสัมผัสชนิดตัวต้านทาน (Resistive screen)
รูปหน้าจอสัมผัสชนิดตัวต้านทาน (Resistive screen)
หน้าจอสัมผัสชนิดนี้ประกอบด้วยแผ่นอินเดียมทินออกไซด์ (ITO) ที่มีลักษณะโปร่งใสและมีความต้านทานทางไฟฟ้าต่ำสองแผ่นวางขนานกันคั่นกลางด้วยช่องว่างเล็กๆ และปุ่มที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า เรียกว่า spacer
เมื่อผู้ใช้ออกแรงกดบนหน้าจอ แผ่นอินเดียมทินออกไซด์ทั้งสองแผ่นจะสัมผัสกัน ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าจากวงจรที่เชื่อมต่อกับแผ่นอินเดียมทินออกไซด์ทั้งสองเกิดความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากค่าความต้านทานโดยรวมที่เปลี่ยนไประบบประมวลผลจึงสามารถระบุตำแหน่งที่สัมผัสได้ โดยหน้าจอสัมผัสประเภทนี้มักพบมากในอุปกรณ์ประเภทเครื่องกดเงินสดหรือ ATM
2. หน้าจอสัมผัสชนิดตัวเก็บประจุ (Capacitive Screen)
รูปหน้าจอสัมผัสชนิดตัวเก็บประจุ (Capacitive Screen)
หน้าจอประเภทนี้ประกอบด้วยแผ่นขั้วตัวนำสองแผ่นซึ่งถูกกั้นด้วยชั้นฉนวนไฟฟ้าเรียกว่า ไดอิเล็กทริก (Dielectric Material)โดยขั้วไฟฟ้าจะถูกวางตัวอยู่ในรูปแบบของตาราง เมื่อนิ้วมือซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้าสัมผัสบนหน้าจอจะทำให้เกิดการถ่ายเทประจุไฟฟ้า (คล้ายกับหลักการของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า ตัวเก็บประจุ หรือ Capacitor)จากนั้นระบบคอมพิวเตอร์จะประมวลผลทำให้ทราบตำแหน่งของการสัมผัสในพิกัดแกนx และแกนy ได้ จอสัมผัสชนิดตัวเก็บประจุมักถูกใช้งานในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่พบได้ทั่วไป เช่น โทรศัพท์Smartphone อุปกรณ์ Tablet เป็นต้น
3. หน้าจอสัมผัสชนิดคลื่นอินฟราเรด (Infrared Screen)
รูปหน้าจอสัมผัสชนิดคลื่นอินฟราเรด (Infrared Screen)
หน้าจอสัมผัสชนิดนี้ จะมีหลอด LED ที่สามารถปล่อยแสงในช่วงคลื่นความถี่อินฟราเรดอยู่บริเวณขอบของแผ่นกระจก และมีเครื่องตรวจวัดแสง (Phototransistors) ในจุดตรงข้ามกับแหล่งกำเนิดแสงแหล่งกำเนิดแสงจะส่งแสงในช่วงอินฟราเรดที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ไปยังฝั่งตรงข้ามตลอดเวลาเมื่อมีการสัมผัสหน้าจอในจุดใดจุดหนึ่งเครื่องตรวจวัดแสงจะสามารถตรวจจับการหายไปของแสงอินฟราเรด และส่งสัญญาณให้กับระบบคอมพิวเตอร์คำนวณตำแหน่งของการสัมผัสตรงบริเวณดังกล่าวได้หน้าจอประเภทนี้มักถูกใช้ในอุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากต้องใช้พื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ในการสร้างวงจร
4. หน้าจอสัมผัสชนิดคลื่นเสียงที่ผิว (Surface Acoustic Screen)
รูปหน้าจอสัมผัสชนิดคลื่นเสียงที่ผิว (Surface Acoustic Screen)
อาศัยคุณสมบัติของคลื่นเสียงอัลตราโซนิกที่มีทิศทางการเคลื่อนที่แน่นอนและสามารถเดินทางได้ทั้งในตัวกลางทุกชนิดหน้าจอประเภทนี้มีตัวส่งและตัวรับสัญญาณวางอยู่ตามขอบหน้าจอ เมื่อเครื่องส่งสัญญาณ (Transmitting transducer) ส่งคลื่นเสียงอัลตราโซนิกออก คลื่นจะสะท้อนไป-กลับกับแผ่นสะท้อน (Reflector) บนขอบหน้าจอก่อนเดินทางไปยังเครื่องรับสัญญาณ (Receiving transducer) เมื่อผู้ใช้สัมผัสหน้าจอ พลังงานบางส่วนของคลื่นที่กำลังเดินทางเกิดจะถูกดูดกลืน ทำให้เครื่องรับสัญญาณระบุตำแหน่งดังกล่าวได้ หน้าจอประเภทนี้มักถูกใช้ในเครื่องจักรขนาดใหญ่
ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีหน้าจอสัมผัสถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายตามการคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดใหม่ ๆอย่างไรก็ตามนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความแม่นยำความถูกต้องในการใช้งานของอุปกรณ์และอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้มากยิ่งขึ้น
ที่มาของภาพ
[1] http://www.thaiphysoc.org/article/149/
ที่มาของแหล่งข้อมูล
[1]http://www.thaiphysoc.org/article/149/[สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563]
[2]https://ledasean.com/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%8A/#.XnRa7OozbDc[สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563]
เขียนโดย ชวลิต อยู่กิจติชัย นักวิชาการ 6 กองนิทรรศการ
ตรวจทาน วรรณวจี สุจริตธรรม นักวิชาการ 5 กองวิชาการ
วชิรพันธ์ เจริญเวช นักวิชาการ 5 กองวิชาการ
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ