พายุสุริยะถล่มโลกครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี

พายุสุริยะถล่มโลกครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี

13-05-2024
1

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA ของสหรัฐอเมริกาแจ้งเตือนการเกิดพายุสุริยะระดับ G5 ที่เป็นระดับสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลมายังโลกตั้งแต่วันที่ 10-พฤษภาคมนี้ และจะค่อย ๆ ลดระดับลงเรื่อย ๆ 

วันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจถึง  รายงานการแจ้งเตือนจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA ของสหรัฐอเมริกา ว่า ค้นพบพายุสุริยะระดับ G5 ที่เป็นระดับสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะมาเยือนโลกในช่วงวันที่ 10- พฤษภาคมนี้  ซึ่งตรงกับรายงานของ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ GISTDA ว่าพายุสุริยะจะมาถึงโลกในคืนวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคมนี้ ในช่วง 22.00 น.โดยประมาณ เบื้องต้นพบว่าพายุสุริยะดังกล่าวมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย ต่อโครงข่ายไฟฟ้า การสื่อสารและดาวเทียม แต่ทำให้คนในพื้นที่แถบละติจูดสูง เช่น อเมริกา แคนาดา จีน ได้เห็นปรากฎการณ์แสงออโรร่าที่มีสีสันสวยงามจำนวนมากมาย ส่วนประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากพายุดังกล่าว

โลกเคยได้รับผลกระทบจากพายุสุริยะระดับรุนแรงเมื่อปี พ.ศ. 2546 ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับชั่วคราวในประเทศสวีเดน หลังจากนั้นวงการเทคโนโลยีจึงมีการพัฒนาปรับปรุงระบบไฟฟ้าและการสื่อสารเพื่อรับมือกับพายุสุริยะเรื่อยมา ล่าสุดมีรายงานว่าโครงข่ายไฟฟ้า การสื่อสารและดาวเทียม ได้รับผลกระทบไม่มากนักจากพายุสุริยะระดับ G5 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา

พายุสุริยะนี้ ถือเป็นปรากฎการณ์ตามธรรมชาติของดวงอาทิตย์ เมื่อสนามแม่เหล็กบริเวณผิวดวงอาทิตย์มีการแปรปรวน ซึ่งสังเกตเห็นได้จากการเกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์ การแปรปรวนนี้ส่งผลให้ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยอนุภาคที่มีประจุออกมาหรือที่เรียกว่ามวลสุริยะ และเมื่อมีการเคลื่อนที่ก็จะทำให้เกิดพายุสุริยะ

โลกมีสนามแม่เหล็กที่ป้องกันพายุสุริยะได้ในระดับหนึ่ง แต่หากพายุนี้มีกำลังแรงมากก็จะส่งผลกระทบให้เห็นบ้าง เช่น การเกิดปรากฎการณ์ออโรร่า หรือผลกระทบกับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบดาวเทียมสื่อสาร โครงข่ายการสื่อสาร

ส่วนประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรรวมถึงประเทศไทย อยู่ในตำแหน่งที่ได้รับการปกป้องจากสนามแม่เหล็กโลกเป็นอย่างดี จึงแทบจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ รวมถึงไม่ได้เห็นแสงออโรร่าเช่นกัน

 

aurora
ปรากฎการณ์ออโรร่า

 

แหล่งที่มาของข่าว

https://www.facebook.com/NARITpage/posts/834106952093182?locale=th_TH

https://www.facebook.com/photo?fbid=834175035419707&set=a.304334558403760&locale=th_TH

https://www.matichon.co.th/bullet-news-today/news_4571197

https://www.matichon.co.th/foreign/news_4571736

 

ผู้เรียบเรียง

วารี อัศวเกียรติรักษา

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

Related