กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ จัดโครงการแข่งขัน “FameLab Thailand 2023” ขึ้น เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ที่สนใจด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้มีทักษะด้านการสื่อสารเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่สังคมไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บริติช เคานซิล และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยในรอบชิงชนะเลิศ ผลปรากฏว่า คุณปาณิสรา วงศ์ทวีพิทยากุล คว้าแชมป์สุดยอดนักสื่อสารวิทย์ จากการนำเสนอในหัวข้อ “The invisible chef” หรือ เชฟล่อนหน พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน FameLab International Competition (Online) ต่อไป
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “โครงการแข่งขัน “FameLab Thailand 2023” จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ โดยโครงการนี้จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ไปอย่างสิ้นเชิง มุ่งเน้นการสื่อสารที่ทำให้วิทยาศาสตร์เข้าใจง่ายน่าสนใจสำหรับประชาชนทั่วไปให้เกิดความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ สำหรับการแข่งขันฯ ในรอบชิงชนะเลิศ โดยมีผู้ผ่านรอบคัดเลือกจากทั่วประเทศจำนวน 20 คน โดยแบ่งเป็นประเภทภาษาไทย 10 คน และประเภทภาษาอังกฤษ 10 คน เพื่อมานำเสนอและสื่อสารเรื่องราวหัวข้องานวิจัย หรือ เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าติดตามภายในเวลา 3 นาที โดยหวังว่าเวทีนี้จะสร้างเครือข่ายของกลุ่มนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคม และพร้อมจะสร้างบุคลากรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อที่จะได้ก้าวต่อไปเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยและระดับนานาชาติต่อไป”
ผลรางวัลการแข่งขัน FameLab Thailand 2023 รอบชิงชนะเลิศมีดังนี้
ประเภทภาษาอังกฤษ
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ คุณปาณิสรา วงศ์ทวีพิทยากุล จากการนำเสนอในหัวข้อ “The invisible chef” หรือ เชฟล่องหน กับ อาหารทางเลือก กินเนื้อที่ไม่ใช่เนื้อ? แต่คงสามารถสร้างสรรเมนูได้หลากหลายและรสชาติดั่งใจหนึ่งในนวัตกรรมอาหารช่วยลดโลกร้อน ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท และโล่รางวัล พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขัน FameLab International Competition (Online) ในเดือนพฤศจิกายนต่อไป
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คุณณภัทร เอมดี จากการนำเสนอในหัวข้อ “Why do cats love catnip? The evolutionary benefit of happiness” หรือ ทำไมแมวจึงชอบกัญชาแมว? กับ กลไกเบื้องหลังที่น้องแมวชื่นชอบกัญชาแมวและมาทาบิ รวมทั้งประโยชน์และเหตุผลทางวิวัฒนาการของพฤติกรรมนี้ ได้รับเงินรางวัล 25,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ คุณวิไลลักษณ์ ชยประเสริฐ จากการนำเสนอในหัวข้อ “The cleanest way to produce food” หรือ เทคโนโลยีการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อโลกมากที่สุด อาหารจากอากาศเป็นเทคโนโลยีการผลิตอาหารที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมหาศาล โดยอาศัยแบคทีเรียกลุ่ม Hydrogenotrope เปลี่ยนแร่ธาตุในอากาศมาเป็นสารชีวมวล เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแร่ธาตุ ได้ผลผลิตเป็นผงโปรตีนเข้มข้นที่สามารถนำมาขึ้นรูปให้เป็นเนื้อสัตว์ได้ ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ คุณอัครพันธ์ ทวีศักดิ์ จากการนำเสนอในหัวข้อ “Can I have your tire?” หรือ ขอล้อ(รถ)คุณได้ไหม? การใช้เส้นใยเหล็กจากล้อรถยนต์เก่ากับการสร้างถนนคอนกรีตเสริมเส้นใยเหล็ก ได้รับเงินรางวัล 7,500 บาท พร้อมเกียรติบัตร
ประเภทภาษาไทย
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ คุณพีรวัส การัณยภาส์กุล จากการนำเสนอในหัวข้อ “CAR-T cell: อาวุธใหม่พิฆาตมะเร็ง” ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ทั้งนี้ยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับ อพวช. ในงานด้าน Science Communication ในช่องทางของการสื่อสารต่างๆ ของ อพวช.
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คุณอาอีซะฮ์ ดือราแม จากการนำเสนอในหัวข้อ “หน้าเด็กศาสตร์” ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ คุณโพธิศักดิ์ โพธิเสน จากการนำเสนอในหัวข้อ “สงครามเคมีของเหล่าพืช” ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ คุณอนันต์พล สุดทรัพย์ จากการนำเสนอในหัวข้อ “จากดินสู่ดาว Sand Art From Earthenware” ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
ดร.กรรณิการ์ฯ ทิ้งท้ายแสดงความยินดี “ชื่นชมทุกคนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และขอเป็นกำลังใจผู้เข้าแข่งขันทุกท่าน การแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์สำคัญของทุกคนที่จะได้เข้ามาสู่วงการของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นตัวแทนในการสื่อสารให้ผู้คนและสังคมได้เข้าใจถึงเรื่องราวของวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้นและนำไปสู่การสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไปในอนาคต”