เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูหนาวปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย คือ การเกิดหมอกหนาทึบปกคลุมท้องฟ้า หลายคนคิดว่านี่คือหมอกธรรมดา แต่จริงๆ แล้วหมอกหนาทึบที่เห็น กรมควบคุมมลพิษแจ้งว่า คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน โดยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องพบกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างประเทศจีนในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาก็พบปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระดับอันตราย แต่ด้วยมาตรการอันเข้มงวดทำให้ประเทศจีนสามารถผ่านพ้นวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ไปได้
ฝุ่น PM 2.5 คือมหันตภัยร้ายที่พร้อมเข้าทำลายทุกคน ไม่ว่าเด็ก คนแก่ หรือหนุ่มสาวที่แข็งแรง ด้วยขนาดของฝุ่นที่เล็กที่ไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือมีขนาด 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ ทำให้ขนจมูกของมนุษย์ที่ทำหน้าดักฝุ่นและกรองอากาศไม่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และอวัยอื่น ๆ ในร่างกายได้ นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 ยังเป็นพาหะในการนำสารอื่น ๆ เข้าสู่ร่างกาย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 คือพฤติกรรมมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการเผาพื้นป่า การเผาวัสดุทางการเกษตร การเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่งที่ก่อให้เกิดมลภาวะจากการใช้รถยนต์ดีเซลและการจราจรที่ติด ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ อุตสาหกรรมการผลิตบางประเภทที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ฯลฯ
แม้ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 อาจไม่เห็นผลในช่วงแรกที่ได้รับ แต่เมื่อรับปริมาณฝุ่นไปมากๆ จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและผิวหนัง โดยทำให้เกิดอาการไอ จาม หรือภูมิแพ้ เกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง เกิดโรคปอดเรื้อรัง หรือมะเร็งปอด เกิดอาการคันตามผิวหนัง ฯลฯ ถึงเวลาแล้วที่ควรป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 หรือเรียนรู้ที่จะอยู่กับฝุ่น PM 2.5 อย่างปลอดภัย
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “ฝุ่น PM 2.5 เป็นเพียงกรณีศึกษาที่ทำให้เห็นว่าการที่มนุษย์ทำลายธรรมชาติมากเท่าไหร่ก็เท่ากับทำลายตัวเองมากเท่านั้น ปัจจุบันมนุษย์ยังต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์เป็นผู้สร้างทั้งสิ้น โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงที่ให้ความสำคัญกับผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างในปัจจุบัน นิทรรศการอนาคตออกแบบได้ (SUSTAINABLE DESIGN) เรียนรู้และสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการรับผิดชอบต่อสังคม ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563 จะแสดงให้เห็นถึงวิกฤตของโลกในด้านต่างๆ ทั้งโรคระบาด มลพิษทางอากาศ ภาวะขาดแคลนน้ำ ขยะล้นโลก การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น อันเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น หากมนุษย์ยังคงดำเนินชีวิตในรูปแบบเดิม มนุษย์อาจต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดจากตัวเอง”
ภายในนิทรรศการนี้ จะแบ่งออกเป็นโซน World Crisis วิกฤตจากพฤติกรรมของมนุษย์ ที่จะแสดงให้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์จนเกิดเป็นวิกฤตต่างๆ ที่โลกต้องเผชิญ ทั้งสัตว์สตัฟฟ์ที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์ และเทคโนโลยี AR ที่แสดงภาพ 3 มิติของเชื้อที่ก่อโรคระบาดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โซน Sustainable: A Way of Life เปลี่ยนโลกอย่างไรให้ยั่งยืน สำรวจบ้านแห่งความยั่งยืนที่รวบรวมแนวคิดเพื่อการพัฒนาและนวัตกรรมที่พัฒนาโดยนวัตกรรุ่นใหม่ที่รักสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนช่วยกันเปลี่ยนแปลงโลก พร้อมพบกับเกมกระดาน (Board Game) สื่อการเรียนรูปแบบเกมที่ช่วยเสริมการเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรให้กับเยาวชนรุ่นใหม่
แม้มนุษย์จะทำลายโลกไปมากมายเพียงใด แต่ยังไม่สายเกินไปที่มนุษย์จะพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเองและเรียนรู้ที่จะปรับตัวเองเพื่อช่วยโลก ถึงเวลาแล้วที่โลกจะต้องเปลี่ยนแปลงด้วยมือของอดีตนักทำลายที่ชื่อว่า “มนุษย์”
วันนี้คุณพร้อมหรือยัง? ที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลกด้วยมือตัวเอง