รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ดัน “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” อพวช. คลอง 5 ปทุมธานี เป็นศูนย์กลางหรือฮับ (Hub)

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ดัน “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” อพวช. คลอง 5 ปทุมธานี เป็นศูนย์กลางหรือฮับ (Hub)

08-12-2021
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ดัน “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” อพวช. คลอง 5 ปทุมธานี เป็นศูนย์กลางหรือฮับ (Hub)

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ดัน “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” อพวช. คลอง 5 ปทุมธานี เป็นศูนย์กลางหรือฮับ (Hub) พิพิธภัณฑ์นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมอาเซียน ล่าสุดใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว เตรียมเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการ มิ.ย.นี้ เผยกำลังมีการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะระบบขนส่งคมนาคม รถไฟฟ้าถึงรังสิต คลองหลวง ทำให้สะดวกต่อการเดินทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ ขณะที่ ผอ.อพวช.ปลื้มได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสืบทอดหลักการทรงงานตามแนวพระราชดำริ ชี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัยและสมบูรณ์ที่สุดทั้งเนื้อหา การนำเสนอและระบบเทคโนโลยี

          เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คลอง 5 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เดินทางลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ 5 ธันวาคม 2550 โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

299A6645 800x533

          ดร.พิเชฐ เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมว่า ขณะนี้การดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า มีความคืบหน้าไปมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์     ทุกอย่างเรียบร้อยดีคาดว่าปลายเดือนมีนาคม 2562 นี้จะแล้วเสร็จทั้งหมด และในเดือนมิถุนายน 2562 จะเปิดให้เข้าชมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อทดสอบระบบการให้บริการต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2562 นี้ เชื่อว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นสถานที่เรียนรู้ขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทยด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตมีเนื้อหาสาระที่นำเสนอผ่านนิทรรศการที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมมีการนำเสนอหลักคิดวิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยการจัดแสดงแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1.บ้านของเรา (Our Home) นำเสนอการก่อกำเนิดจักรวาล ระบบสุริยะจักรวาลและโลก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจนถึงกำเนิดมนุษย์ 2. ชีวิตของเรา (Our Life) นำเสนอสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับระบบนิเวศ และ 3.พระราชาของเรา (Our King) เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของพระองค์ที่ทรงนำไปแก้ปัญหาหรือพระราชทานแก่พสกนิกรพื้นที่ต่างๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน

299A6654 800x533

         รมว.วท. กล่าวต่อว่า พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่ ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ด้วยมีเนื้อที่กว่า 47,400 ตารางเมตร ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะดำเนินการผลักดันยกระดับให้พิพิธภัณฑ์พระรามเก้ากลายเป็นศูนย์กลางหรือฮับ (Hub) การเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน เพราะเรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ทำการร้อยเรียงความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความสมดุลของชีวิตบนโลก นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของจักรวาลซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่งไปจนถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม การเรียงร้อยเรื่องราวดังกล่าวดำเนินอยู่บนแกนความคิดซึ่งถอดมาจากแนวพระราชดำริ ทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวบรวมนำเสนอข้อมูลทรัพยากรน้ำ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งการจัดแสดงระบบนิเวศของไทยและของโลกที่สมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย

299A6666 800x533

          “การยกระดับพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ให้เป็นฮับหรือศูนย์กลางพิพิธภัณฑ์ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ของอาเซียน ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะขณะนี้กำลังมีความพยายามที่จะต้องการให้บริเวณคลอง 5 เทคโนธานี เป็นเหมือนศูนย์รวมของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ เนื่องจากมีพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้รวมถึงหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มากมาย สามารถเชื่อมโยงกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ทำให้เกิดเป็นเมืองวิทยาศาสตร์ ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งจะเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ที่สำคัญ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะระบบขนส่งคมนาคม รถไฟฟ้าถึงรังสิตและคลองหลวง ทำให้สะดวก ต่อการเดินทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าและอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังจะมีสวนสัตว์แห่งใหม่ ที่จะเสร็จสมบูรณ์ ในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้บริเวณคลอง 5 กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ อพวช. ยังมีความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ซึ่งจะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ขนาดใหญ่ ผ่านระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างพิพิธภัณฑ์อีกด้วย” ดร.พิเชฐ กล่าว

299A6702 800x533

          ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.อพวช. กล่าวว่า ภายในปี 2562 เราจะได้เห็นและสัมผัสกับพิพิธภัณฑ์ พระรามเก้าที่ทันสมัยและสมบูรณ์ที่สุดทั้งเรื่องของเนื้อหา การนำเสนอและระบบเทคโนโลยี ที่สำคัญพวกเราจะได้เป็น ส่วนหนึ่งที่ร่วมกันสืบทอดหลักคิด หลักการทรงงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล- อดุลยเดช หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ซึ่งทรงงานหนัก เพื่อประโยชน์สุขของเราชาวไทยมาเป็นเวลายาวนานตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์

          ผอ.อพวช.กล่าวต่อว่า สำหรับระบบขนส่งมวลชนมีความสำคัญมากในการนำผู้เข้าชมให้เข้ามาเรียนรู้และ ร่วมกิจกรรมของ อพวช. ซึ่งมีกิจกรรมหมุนเวียนตลอดทั้งปี ขณะนี้ อพวช.กำลังเจรจากับจังหวัดปทุมธานี เพื่อเตรียมแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนไว้รองรับพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ โดยในระยะแรกจะพัฒนาปรับปรุงเส้นทางรวมทั้งการ เข้ามาร่วมให้บริการจาก ขสมก. ส่วนในระยะยาวจะได้หารือกับ สนข.เพื่อพัฒนาระบบรางสายรอง เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักต่อไป

299A6710 800x533

ข่าวสารที่่คล้ายกัน