องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM นำโดย ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.NSM พร้อมด้วย ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผอ.NSM และคณะเจ้าหน้าที่ ร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้มุมมองด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ รวมทั้งด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ในการประชุมประจำปี Asia-Pacific Network of Science & Technology Centres (ASPAC Annual Conference 2024) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และศูนย์วิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติกวาชอน ระหว่างวันที่ 3 - 7 กันยายน 2567 ณ เมืองกวาชอน สาธารณรัฐเกาหลี
ผศ.ดร.รวิน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อเรื่อง Harmonizing the Art of Puppets and the Science of Robots for Innovative STEAM Discovery เผยว่า “NSM ไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนสนุกกับการค้นพบและการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เรายังเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมความรู้ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ โดยเน้นการพัฒนากำลังคนและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย ในปีที่ผ่านมา NSM ได้ผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่ายในการจัดงานเทศกาลหุ่นโลกระดับนานาชาติขึ้นภายในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นกิจกรรม ที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม งานนี้ถือเป็นการสร้างพื้นที่ ให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและสร้างผลงานหุ่นแบบต่าง ๆ ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษที่นำเสนอเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่แฝงอยู่ในการแสดงหุ่นอีกด้วย
“ในปีนี้เราได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลหุ่นโลก Harmony World Puppet Toy Robot Festival 2024 ขึ้นอีกครั้ง ในระหว่างวันที่ 13 - 17 พฤศจิกายน 2567 ณ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งจะได้พบการแสดงหุ่นไทยและหุ่นนานาชาติจากศิลปินมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก มาร่วมสร้างความยิ่งใหญ่ ที่ทุกคนจะได้สัมผัสประสบการณ์ความสนุกของการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมนุษย์ในการประยุกต์ใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จึงเป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับทุกช่วงวัยที่จะได้เรียนรู้ ค้นหาคำตอบอย่างสนุกสนาน และสามารถดึงไอเดียใหม่ ๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและประชาชนไทยได้พัฒนาทักษะ และกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์นำไปสู่การต่อยอดให้กับประเทศต่อไปในอนาคต” ผศ.ดร.รวิน กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมฯ ดังกล่าว ด้าน ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผอ.NSM และคณะกรรมการด้านนโยบาย กลยุทธ์ และการบริหารจัดการ ASPAC ได้ร่วมนำเสนอในหัวข้อ เรื่อง “CAN Satellite : Inspirations in Science and Technology through Aerospace Engineering Program” เพื่อเล่าถึงประสบการณ์ในการจัด Thailand CANSAT - ROCKET Competition ที่ส่งเสริมเยาวชนในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศผ่านการลงมือปฏิบัติจริงด้วยการออกแบบและประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็ก (CANSAT) และจรวดประดิษฐ์ (ROCKET) เพื่อสร้างรากฐานให้เยาวชนสามารถต่อยอดการเรียนรู้และเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อพัฒนาและต่อยอดการจัดกิจกรรมฯ ดังกล่าว สู่ระดับนานาชาติ และนำเสนอผลงานผ่านโปสเตอร์ เรื่องการมีส่วนร่วมของสาธารณะในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ : จากประสบการณ์สู่การตื่นรู้ กับนิทรรศการ The Multiverse of AI: Trick or Truth
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ NSM ได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา โดย นางสาวจีรพัชรินทร์ อรรถจินดา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและเครือข่าย นำเสนอในหัวข้อ “Stakeholder Management : Ready -Set-Goal !” นางมณีรัตน์ เปานาเรียง ผอ.กองวิชาการประวัติวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาไทย นำเสนอในหัวข้อ “การส่งเสริมสุขภาวะทางจิตของผู้สูงอายุผ่านการเป็นอาสาสมัครเล่าเรื่องวัตถุตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” ดร.พุทธมน ผ่องกาย นักวิชาการชำนาญการ นำเสนอในหัวข้อ “นิทรรศการพืชผู้ล่า กับดักมรณะ” และนางสาวสุภาวดี เที่ยงบางหลวง นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ร่วมนำเสนอผลงานผ่านโปสเตอร์ ในหัวข้อ “การเรียนรู้ธรรมชาติแบบ Naturalist”