“สังคมศาสตร์ - มนุษยศาสตร์ - ศิลปกรรมศาสตร์” เป็นศาสตร์ที่ร้อยต่อด้วยกันได้ โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลต่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้บูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ ผ่านวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts: TASSHA) หรือ “ธัชชา” เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
คุณพจน์ระพี ทองกัญชร เจ้าหน้าที่วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (ธัชชา) กล่าวว่า ธัชชาเกิดจาก 5 สถาบัน คือ สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ซึ่งศึกษาด้านประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ โบราณวัตถุต่างๆ สถาบันโลกคดีศึกษา เป็นการศึกษาเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนามาพร้อมๆ กับประเทศไทย ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และแนวทางในอนาคต สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโมเดลอื่นๆ นอกเหนือจากการเกษตร สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ การจัดทำรวบรวมผลงานศิลปกรรมเด่นๆ ที่แสดงถึงความเป็นไทย และสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น การรวบรวมผลงานช่างศิลปะทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน
เป้าหมายของการเกิดธัชชาตามนโยบายของ ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ที่ได้มอบไว้ให้ คือ “การสร้างโมเดลบีซีจี” ด้วยการนำความรู้จาก 5 สถาบันกระจายไปยังสถาบันการศึกษา ชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น มีการพัฒนามีดกริชซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น หรือผ้าไหมของภาคอีสาน เครื่องเงินของภาคเหนือก็นำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ จะทำหน้าที่รวบรวมผลงานศิลปะ และสร้างพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงๆ หรือ VR (Virtual Reality)เพื่อสร้างสรรค์ศิลปินรุ่นใหม่ๆ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ที่อยากเป็นศิลปิน ซึ่งในอนาคตศิลปะจะเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศด้วย
สำหรับกิจกรรมไฮไลท์ของบูธ คือ บอร์ดศิลาจารึก ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้การลอกลายศิลาจารึกเพื่อเรียนรู้อักษรโบราณต่างๆ เช่น อักษรละติน อักษรไทย อักษรอังกฤษ อักษรโรมัน อักษรขอมไทย เป็นต้น และส่องกล้องโบราณวัตถุ เป็นการนำโบราณวัตถุมาส่องดูแร่ธาตุ ดูชนิดของดิน หิน ที่สร้างเป็นโบราณวัตถุว่าอยู่ในพื้นที่ใด หรือสร้างในสมัยใด ด้วยกล้อง Polarizing Microscope กิจกรรมนี้จะทำให้เด็กๆ ได้เข้าใจว่าสังคม และวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่อยู่คู่กันมาตลอด ตลอดการจัดงานทั้ง 2 กิจกรรมได้รับการตอบรับจากเด็กๆ เป็นอย่างดี ทุกคนที่เยี่ยมชมบูธได้เข้าร่วมกิจกรรมหมด
จากนี้ไป “ธัชชา” จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ปัญหาแบบองค์รวม การสร้างเทคนิค องค์ความรู้ การพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต โดยจะขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติ เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการเชื่อมโยงประเทศไทยเข้ากับภูมิภาคและโลกต่อไป