เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) หรือ NSM ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.NSM แถลงข่าว “การค้นพบพันธุ์พืช - สัตว์ชนิดใหม่ของโลก” ว่า ขณะนี้ ทีมนักวิจัยของ NSM ได้แมลงชนิดใหม่ของโลก 5 ชนิด ได้แก่ 1.แมลงหางหนีบเดินดงเมืองเหนือ (Mongolabis chiangmaiensis Nishikawa & Jaitrong, 2023) ถูกค้นพบบนที่สูงทางภาคเหนือใน จ.เชียงใหม่ 2.แมลงหางหนีบเดินดงเมืองจันท์ (Mongolabis chantha Nishikawa & Jaitrong, 2023) พบที่ จ.จันทบุรี 3.แมลงหางหนีบเดินดงสยาม (Mongolabis siamensis Nishikawa & Jaitrong, 2023) พบที่ อ.ปัว จ.น่าน ทั้ง 3 ชนิดเป็นแมลงหางหนีบที่ไม่มีปีก จึงบินไม่ได้ แตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ ที่มีปีกบินสามารถบินได้ ตัวสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ อวัยวะเพศผู้ค่อนข้างยาวกว่ากว้าง นอกเหนือจากจะเป็นแมลงหางหนีบชนิดใหม่ของโลกแล้วยังค้นพบชนิดที่รายงานครั้งแรกในประเทศไทยอีก 2 ชนิด ตัวอย่างต้นแบบ (Type specimens) ของแมลงทั้งสามชนิดถูกเก็บรักษาไว้ ณ คลังตัวอย่างแมลงที่ NSM ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบ่วา NSM เก็บรวบรวมตัวอย่างของแมลงกลุ่มนี้ไว้มากที่สุดของประเทศอีกด้วย
“ที่สำคัญล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค.2567 ที่ผ่านมา ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา NSM ร่วมกับ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยจำปาสัก ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ค้นพบและตั้งชื่อมดชนิดใหม่ 2 ชนิดในสกุล Plagiolepis โดยได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวารสาร Fae Eastern Entomologist ฉบับที่ 492 หน้าที่ 1-14 เป็นฉบับแรกและเรื่องแรกของวารสารที่ตีพิมพ์ในปี 2567 ได้แก่ มดชมภูพวง (Plagiolepis chomphuphuangi Phosrithong et Jaitrong, 2024) จากประเทศไทย และ สปป.ลาว เพื่อเป็นเกียรติแก่ ผศ.ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าทีมสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพแขวงจำปาสัก สปป. ลาว และมดท็อป (Plagiolepis silpaarchai Phosrithong et Jaitrong, 2024) เพื่อเป็นเกียรติแก่นายวราวุธ ศิลปอาชา อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและครอบครัวผู้สนับสนุนวงการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย ทั้งสองชนิดมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันคือหัวมีร่อง และลำตัวมีขนยาว (ชนิดอื่น ๆ ไม่มีขน) แต่แตกต่างกันที่อกของมดท็อปมีผิวที่หยาบกว่ามดชมภูพวง มดท็อปมีความเสี่ยงที่จะถูกรุกราน เนื่องจากทีมวิจัยพบมดชนิดนี้บริเวณขอบป่าอาจถูกรุกรานด้วยมดต่างถิ่น เช่น มดน้ำผึ้ง และมดคันไฟ
ผอ.NSM กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นักวิจัย NSM ยังได้ค้นพบ “ดอกดินไข่ปลา” ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia subglobosa Noppornch. & Jenjitt. เป็นพืชวงศ์ขิง-ข่า (Zingiberaceae) สกุลเปราะหอม (Kaempferia L.) ได้รับการบรรยายลักษณะทางสัณฐานวิทยาและระบุให้เป็น “ดอกดินสกุลเปราะชนิดใหม่ของโลก” โดย ดร.ณัฐพล นพพรเจริญกุล นักวิชาการ กองวิชาการพฤกษศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา NSM ร่วมกับ ผศ.ดร.ทยา เจนจิตติกุล อาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารพฤกษศาสตร์นานาชาติ Blumea - Biodiversity, Evolution and Biogeography of Plants (Q2) ปี 2567 ฉบับที่ 69 วันที่ 18 ม.ค.2567 ซึ่งดอกดินไข่ปลาเป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย (endemic to Thailand) ปัจจุบันพบกระจายพันธุ์ที่ อ.บ้านตาก และ อ.สามเงา จ.ตาก เท่านั้น
“การค้นพบชนิดใหม่ของโลกเฉลี่ยแล้ว NSM ได้ทำการค้นพบสิ่งมีชีวิตในทุก ๆ ปี ซึ่งนำมาสู่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ และผลงานหรืองานวิจัยเหล่านี้ถูกนำไปตีพิมพ์ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการระดับนานาชาติสร้างชื่อให้กับประเทศไทย นอกจากนี้ งานวิจัยยังสามารถต่อยอดและพัฒนาเป็นการสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจให้กับประเทศโดยเกิดจากการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาพัฒนาหรือการปรับปรุงเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยใช้งานวิจัยเข้ามามีบทบาทสำคัญในการการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและศักยภาพพร้อมเป็นโมเดลสำคัญสู่ความยั่งยืนของประเทศอีกด้วย” ผศ.ดร.รวิน กล่าว