พระราชดำรัสตอนหนึ่ง ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชดำรัสตอนหนึ่ง ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

09-12-2021
พระราชดำรัสตอนหนึ่ง ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

“การไปช่วยเหลือประชาชนนั้น ต้องรู้จักประชาชน  ต้องรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร ต้องอาศัยความรู้ในการช่วยเหลือ”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

            พระราชดำรัสตอนหนึ่ง ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่กล่าวไว้เมื่อ ๔๕ ปีมาแล้ว ยังสะท้อนถึงหลักการและวิธีคิดในการทรงงานของพระองค์ พระราชดำรัสตอนนี้แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักทรงงานที่มีความสุขกับการทรงงาน และทรงใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์ เมื่อพบปัญหาของราษฎรก็ทรงศึกษา ทดลอง วิจัย และประดิษฐ์เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อนำมาช่วยเหลือบรรเทาปัญหา หรือทรงมอบแนวพระราชดำริ ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนำไปศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงลึก

            แก้มลิง เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริอย่างชัดเจน เกี่ยวกับพื้นที่หน่วงน้ำ (Detention Area) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม มีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมาก ๆ วิธีนี้ใช้การขุดคลองต่าง ๆ เพื่อชักน้ำมารวมกันไว้เป็นบ่อพักที่เปรียบได้กับแก้มลิง แล้วค่อย ๆ ระบายน้ำลงทะเล เมื่อน้ำทะเลลดลงจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่สวนไร่นาของประชาชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง

            ทฤษฎีใหม่ คือแนวคิดการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งนํ้าอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบอาชีพ วิธีการจัดการ และการตลาด รวมถึงการรวมกลุ่มพลังชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อพร้อมที่จะออกสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกได้อย่างครบวงจร นี่คือแนวพระราชดำริที่มีวิธีคิดแบบองค์รวม (Holistic) ที่ทรงมองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดอย่างเป็นพลวัตที่ทุกมิติเชื่อมต่อกัน

            สำหรับสภาพพื้นที่ดินทางภาคใต้มีสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำการเพาะปลูกไม่ได้เนื่องจากมีกำมะถัน (Sulphur) อันเป็นสาเหตุของดินเปรี้ยว พระองค์พระราชทานแนวพระราชดำริการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินให้มีกรดจัดมากขึ้นจนถึงที่สุด จากนั้นจึงมีการปรับปรุงดินเปรี้ยวโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การควบคุมระบบน้ำใต้ดินเพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน

            จากแนวพระราชดำริการทรงงานที่ผ่านมาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงการทรงงานบนพื้นฐานวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์แล้ว หลายงานยังมีพื้นความรู้ทางความหลากหลายทางชีวภาพด้วย

            พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คือแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ที่กำลังจะเปิดให้ผู้คนเข้าชมในเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ นี้ เพื่อเรียนรู้แนวทางการทรงงานทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพระองค์อย่างใกล้ชิด และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านระบบนิเวศ การบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกับระบบนิเวศธรรมชาติอย่างยั่งยืน

            วันนี้แม้พระองค์จะเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่แนวคิดการทรงงานของพระองค์ยังคงอยู่ให้พสกนิกรสามารถนำไปปฏิบัติได้ตราบชั่วกาลนาน

-------------------------------------------------------------

เขียน : อานุภาพ สกุลงาม

        พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.