วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมพิธีเปิด "เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 18" หัวข้อ "โอกาสที่เท่าเทียมกันในวิทยาศาสตร์" ( Equal Opportunities in Science) โดยมี นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วย นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นายโยฮันเนส โฮสส์เฟลด ผู้อํานวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย Dr. Bicky Bhangu, President Southeast Asia, Pacific and South Korea) และผู้แทนจาก โรลส์-รอยซ์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมในพิธีพร้อมร่วมชมภาพยนตร์เปิดเทศกาล เรื่อง “ลืมไปหรือเปล่า ตอน บุคคลต้นแบบ (หายไปไหน)” (Mind the Gap - (No) Role Models) จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ หอประชุมสถาบันเกอเธ่ ซอยสาทร 1 เขตสาทร กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หนึ่งในหน่วยงานผู้ร่วมจัดเทศกาลฯ กล่าวว่า “งานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้” หรือ Science Film Festival นี้จัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 ด้วยความมุ่งหวังเดียวกันกับผู้ร่วมโครงการฯ ที่จะนำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่มีความหลากหลายทั้งด้านแนวคิดและการนำเสนอที่เต็มไปด้วยคุณภาพ มาเผยแพร่สู่สาธารณะ อีกทั้งยังสะท้อนแนวคิดของประเทศต่าง ๆ ต่อประเด็นที่จัดขึ้น ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ประเด็น “วิทยาศาสตร์..โอกาสที่เท่าเทียม” โดยมีผู้ผลิตภาพยนตร์มากมายร่วมร้อยเรียงและถ่ายทอดเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมทางเพศ ความเท่าเทียมของสิ่งมีชีวิต ทุกเรื่องล้วนน่าสนใจและสะท้อนมุมมองใหม่ ๆ ที่โยงวิทยาศาสตร์เข้ากับมิติด้านความเท่าเทียมได้อย่างหลากหลาย เชื่อว่าต้องสร้างความสนใจใคร่รู้ให้กับผู้ชมว่าวิทยาศาสตร์และความเท่าเทียมมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร รวมถึงการที่ภาพยนตร์เหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดคำถามในใจแก่คนในสังคม รวมถึงคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ถึงความมีอยู่จริงของความเท่าเทียมอีกด้วย”
สำหรับหัวข้อ โอกาสที่เท่าเทียมกันในวิทยาศาสตร์ ( Equal Opportunities in Science) หมายถึง สถานะของความเป็นธรรมที่มนุษย์ได้รับการปฏิบัติเหมือนๆกัน โดยปราศจากอุปสรรคที่ถูกสร้างขึ้นหรืออคติ หรือการเลือกที่รักมักที่ชัง บุคลากรทางวิทยาศาสตร์ที่มีความหลากหลายและครอบคลุมนั้นจะนำเอาภูมิหลัง มุมมอง และประสบการณ์ที่มีในวงกว้างที่สุดมาใช้ ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในด้านวิทยาศาสตร์อย่างสูงสุด
เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในปีนี้ จึงมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความตระหนักในประเด็นเรื่องความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในสาขา STEM ของกลุ่มคนที่ถูกมองข้าม ซึ่งการศึกษาและการทำงานด้านวิทยาศาสตร์จะมอบโอกาสที่เท่าเทียมกันเพื่อผลประโยชน์ของทุกภาคส่วนในสังคม ขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มความสะดวกและช่องทางการรับชมที่เข้าถึงเยาวชนและทุกครอบครัวได้อย่างใกล้ชิดยังสามารถชมภาพยนตร์ในเทศกาลนี้ผ่านออนไลน์ได้ด้วย โดยได้จัดให้มีช่องทางรับชมแบบสตรีมมิ่งที่มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล โดยให้ผู้ชมกรอกรหัสผ่านก่อนเข้ารับชมได้ พร้อมกันนี้ภาพยนตร์ทุกเรื่องยังพากย์เสียงหรือเพิ่มคำบรรยายภาษาไทยเพื่อลดอุปสรรคทางด้านภาษาอีกด้วย ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมามีผู้เข้าชมเทศกาลฯของประเทศไทยแล้วมากกว่า 280,000 คน
ภาพยนตร์ที่จัดฉายมี 4 ประเภท คือ ภาพยนตร์บันเทิงศึกษาสำหรับครอบครัว ภาพยนตร์แอนิเมชัน หรือหนังสั้น ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ชีววิทยาและเทคโนโลยี ภาพยนตร์นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยภาพยนตร์จากประเทศอินเดีย ออสเตรเลีย เยอรมนี อินเดีย ไอร์แลนด์ แองโกล่า สวิสต์เซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น โครเอเชีย มาลาวี สหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร
โรงเรียน และผู้สนใจสามารถชมภาพยนตร์ในเทศกาลนี้ได้ฟรี โดยจัดฉายระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 20 ธันวาคม 2565 มีภาพยนตร์จากนานาชาติที่ได้รับการคัดเลือกมาฉาย จำนวน 33 เรื่อง เลือกชมได้ในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (สวทช.) หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ และ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในภูมิภาคจำนวน 17 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ อุบลราชธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี ยะลา สระแก้ว ตรัง นครสวรรค์ ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ รังสิต นครพนม พิษณุโลก นราธิวาส ปัตตานี และนครราชสีมา
ทั้งนี้ โรงเรียนและคุณครูสามารถนำไปเป็นสื่อการเรียนรู้ได้สะดวก เพราะเทศกาลนี้ได้นำเสนอสื่อการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเผยแพร่อยู่บนหน้าเว็บไซต์ของเทศกาล เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ครูผู้สอนตลอดจนผู้ปกครอง สามารถบันทึกเก็บและใช้เป็นประโยชน์ได้ ดูรายละเอียดและเลือกศูนย์ฉายได้ที่ https://sciencefilm.ipst.ac.th/