น่าจะเป็นอีกหนึ่งประโยคที่ผุดขึ้นมา หลังจากทุกคนได้เดินภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563 จนทั่ว ที่น่าตื่นตาตื่นใจจนต้องหยิบยกมาพูดถึง คือ นิทรรศการจากหน่วยงานต่างประเทศ (International pavilion) ของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ที่ได้รวบรวมนวัตกรรมมากมายมาให้เรียนรู้กัน จะมีอะไรบ้างนั้นไปชมกันดีกว่า
หลังจากได้เดินสำรวจรอบนิทรรศการ ต้องสะดุดตากับบูธขององค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA องค์กรที่มีบทบาทการสร้างประโยชน์จากอวกาศผ่านดาวเทียมตรวจตราภัยพิบัติธรรมชาติทั่วโลกและเคยได้ใช้ระบบดาวเทียมช่วยสำรวจการค้นหาทีมหมูป่า ที่ติดภายในถ้ำหลวงมาแล้ว
และเพราะองค์กร JAXA ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งประเทศในเอเชียที่มีส่วนร่วมหลักของสถานีอวกาศนานาชาติ โครงการที่ร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านอวกาศ 5 หน่วยจากชาติต่างๆ ได้แก่ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA,สหรัฐอเมริกา), องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (RKA, รัสเซีย) ,องค์การอวกาศแคนาดา (CSA, แคนาดา), องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA, ญี่ปุ่น) และ องค์การอวกาศยุโรป (ESA, สหภาพยุโรป) นั่นจึงทำให้ประเทศไทยของเราได้รับโอกาสพิเศษที่ดีในโครงการทดลองต่าง ๆ อย่างหน่วยงาน สวทช. ที่ได้จัดทำโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) โครงการเพื่อศึกษาพืชในสภาวะอวกาศสำหรับใช้เป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศ และต่อยอดการวิจัยสู่การปลูกพืชบนดาวเคราะห์ดวงอื่น เพื่อรองรับการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ในอนาคต โดยคิดค้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จนเมื่อล่าสุด วันที่ 16 พ.ย. 63 ทาง JAXA ได้ปล่อยจรวด Falcon-9 นำเมล็ดราชพฤกษ์ไทยขึ้นสู่อวกาศ ในภารกิจ SpaceX Crew-1 เป็นที่เรียบร้อย จากจุดนี้ นับว่าเป็นข้อดีที่ประเทศไทยได้รับโอกาสพิเศษจากญี่ปุ่น จึงทำให้เราได้มีโอกาสโชว์ศักยภาพเกี่ยวกับผลงานด้านการวิจัยให้นานาประเทศรับรู้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่มนุษย์จะอยู่บนอวกาศได้ ย่อมต้องมีเรื่องของอาหารการกินเพื่อความอยู่รอด แต่หลายคนคงทราบดีว่า ปกตินักบินอวกาศจะรับประทานอาหารแคปซูลหรือสารอาหารแห้งอัดแข็งที่ไร้รสชาติ นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างคุณ SANO Satoshi จึงได้ร่วมคิดค้นอาหารอวกาศที่สามารถเก็บได้นานขึ้น และผลิตรสชาติอื่นๆ ออกมาให้มากขึ้น
Japanese Space Food อาหารอวกาศที่พัฒนาและผลิตขึ้นเพื่อให้นักบินอวกาศได้บริโภคอย่างมีรสชาติ ปลอดภัยและอุ่นใจได้ขณะอยู่ในอวกาศ โดยมีคอนเซ็ปท์ต้องการให้นักบินอวกาศรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในบ้านอวกาศ ซึ่งมาจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมการถนอมอาหารที่องค์กรสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่นได้มีการผลิตอาหารต้นตำรับในแบบฉบับชาวญี่ปุ่นสำหรับนักบินอวกาศที่สัมผัสได้ถึงรสชาติอาหารจริง เสมือนนั่งกินบนโลก คัดสรรส่วนประกอบเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ข้าว เครื่องปรุง ของหวาน เครื่องดื่มชาเขียว ฯลฯ ซึ่งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสร้างสรรค์ ในการเพิ่มรสชาติอาหารอวกาศ จะช่วยส่งผลต่อสภาพจิตใจของนักบินอวกาศให้รู้สึกดีขึ้นเพราะสามารถสัมผัสถึงรสชาติอาหารที่หลากหลายด้วย
ไม่หมดเพียงเท่านี้ ภายในบูธยังมีอีกนวัตกรรมที่เข้ามามีบทบาทในปัจจุบันเป็นอย่างมาก สำหรับหุ่นยนต์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) โดยหุ่นยนต์ AI ที่มีส่วนสำคัญในแวดวงการแพทย์ทั่วโลก นั่นคือ หุ่นยนต์แมวน้ำ PARO หุ่นยนต์ที่เป็นอุปกรณ์การแพทย์สำหรับการบำบัดทางประสาทวิทยาและการบำบัดโดยไม่ใช้ยา มีจุดประสงค์เพื่อต้องการส่งเสริมทางสุขภาพจิต รักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ ความผิดปกติด้านความจำ ความเครียดหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรง ภาวะซึมเศร้า ดูแลผู้สูงอายุ ความผิดปกติ ด้านพัฒนาการ ฯลฯ
หุ่นยนต์แมวน้ำ PARO ถูกพัฒนาโดย National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง PARO ถูกออกแบบมาให้มีพฤติกรรมคล้ายสิ่งมีชีวิต มีความสามารถในการเรียนรู้ เลียนแบบผู้เลี้ยง สามารถจดจำทิศทางของเสียงและคำพูด อาทิ คำทักทาย คำชม ฯลฯ รวมทั้งจำชื่อเจ้าของได้ ด้วยระบบเซ็นเซอร์เสียง นอกจากนี้ ยังมีระบบเซ็นเซอร์อุณหภูมิและท่าทาง สามารถรับรู้ผู้คนและสภาพแวดล้อมได้ ฯลฯ
สำหรับหุ่นยนต์แมวน้ำ PARO สนนราคาที่ 5,000 ยูโร (ราว 179,000 บาท) จำหน่ายไปแล้วกว่า 5,000 ตัว มากกว่า 30 ประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐฯ ทำเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ (เครื่องมือบำบัดทางประสาทวิทยา Class ll) โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ ประเทศเดนมาร์ก ประมาณ 80% ของเทศบาลเมืองต่าง ๆ ได้นำ PARO มาใช้แล้ว ประเทศเยอรมนี ประกันสุขภาพให้ความคุ้มครองการบำบัดโดยการออกตรวจโดย PARO ประเทศอังกฤษ ระบบบริการสุขภาพ เพื่อใช้รักษาอาการสมองเสื่อมในการบำบัดโดยไม่ใช้ยา ประเทศญี่ปุ่น หน่วยงานท้องถิ่นของรัฐบางแห่งร่วมสมทุบทุนเพื่อสนับสนุน PARO ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาผสมผสานกับความสร้างสรรค์จนได้เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ นั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่า หากหุ่นยนต์สามารถเลียนแบบพฤติกรรมทั้งมนุษย์และสัตว์เลี้ยง สร้างระบบและการรับรู้ได้เสมือนสิ่งมีชีวิตจริง ๆ คาดเดาไม่ได้เลยว่า สังคมของเราในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป...
งานมหกรรมวิทย์ฯ 63 จัดถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 จัดแสดงในรูปแบบใหม่ Virtual Science Fair เปิดให้คนเข้าชมงานได้ 2 ช่องทาง ช่องทางแรกคือการเข้าชมงานในสถานที่จริง ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ชมงานฟรี! ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. และช่องทางที่สอง คือเข้าชมผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านเว็บ www.thailandnstfair.com สามารถรับชมกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ที่จัดขึ้น การเยี่ยมชมงานของพรีเซนเตอร์และเหล่าคนดังที่มาเยี่ยมชมงาน ทางเฟสบุ๊กของงาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH
สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ติดต่อ กองสื่อสารองค์กร สำนักผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
คุณพัชร์ชิสา (ปัญญ์) 095-624-6659 / คุณสุรัตนา (เมย์) 086-409-1602
ประชาสัมพันธ์งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563
คุณสุวรรณา (นา) 081-565-5540 / คุณพัสรา (ต่าย) 087-497-8183