เด็กไทยสร้างชื่อนำโครงงานวิทยาศาสตร์คว้าสเปเชียลอวอร์ด (Special Award)

เด็กไทยสร้างชื่อนำโครงงานวิทยาศาสตร์คว้าสเปเชียลอวอร์ด (Special Award)

09-12-2021
เด็กไทยสร้างชื่อนำโครงงานวิทยาศาสตร์คว้าสเปเชียลอวอร์ด (Special Award)

เมืองฟินิกส์ สหรัฐอเมริกา / วันที่ 16 พฤษภาคม 2562 - เด็กไทยสร้างชื่อนำโครงงานวิทยาศาสตร์คว้าสเปเชียลอวอร์ด (Special Award) จากผู้สนับสนุนการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนในระดับนานาชาติ The Intel International Science and Engineering Fair 2019 (Intel ISEF) ที่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,800 คน จาก 80 ประเทศมาร่วมแข่งขันถึง 3 รางวัล จากผลงานโครงงาน "การพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง" จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย โครงงาน "เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช" โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา”จ.ฉะเชิงเทรา “การสังเคราะห์อนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนจากน้ำมันหมูเหลือใช้เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเล” โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ณ เมืองฟินิกส์ รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา

          ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวถึงการนำเยาวชนไทยเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนในระดับนานาชาติ The Intel International Science and Engineering Fair 2019 (Intel ISEF) โดยการผนึกกำลังระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม ระหว่างวันที่ 12 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ณ เมืองฟินิกส์ รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีนี้มีตัวแทนเยาวชนทีมไทยเข้าร่วมแข่งขัน 17 ทีม

         โดยในค่ำวันที่ 16 พฤษภาคม ได้มีการประกาศผลสเปเชียลอวอร์ด หรือรางวัลพิเศษจากผู้สนับสนุน 45 ราย อาทิ 1. องค์การการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) 2. มูลนิธิ IEEE เป็นสมาคมวิชาชีพที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่อุทิศตนเพื่อพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความเป็นเลิศเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ 3. Sigma Xi องค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก 4. USAID from the American People องค์กรซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชากรโลก ลดความยากจน และส่งเสริมการป้องกันประชาธิปไตยในระดับนานาชาติ 5. Association for the Advancement of Artificial Intelligence สมาคมเพื่อความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ เป็นสมาคมวิทยาศาสตร์ที่อุทิศให้กับการพัฒนาความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกลไกพื้นฐานของความคิดและพฤติกรรมที่ชาญฉลาดและศูนย์รวมของพวกเขาในเครื่องจักร โดยจะทำการคัดเลือกผลงานเยาวชนที่สามารถนำไปต่อยอดและสามารถผลิตได้จริง

          ผลปรากฏว่าเยาวชนไทยสามารถทำผลงานเข้าตาคว้ารางวัลสเปเชียลอวอร์ดได้ถึง 3 รางวัล จากองค์กรชั้นนำของโลก ได้แก่ Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society องค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก มอบรางวัลสเปเชียลอวอร์ด ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพสำหรับการวิจัยข้ามสาขา และการทำงานเป็นทีมที่ ให้กับ นายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ และนางสาวสุทธิดา เอี่ยมสอาด โครงงาน "เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช" โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษานายนิรันดร์ เหลืองสวรรค์

1387986

         นายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานของกลุ่มตนว่า ผักหวานป่าเป็นผักเศรษฐกิจที่มีผู้คนนิยมรับประทานกันมาก เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แต่มีปริมาณผลผลิตที่ได้ค่อนข้างต่ำซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จากการศึกษา พบว่าอัตราการรอดชีวิตของต้นอ่อนผักหวานป่าค่อนข้างต่ำ เนื่องจากการเสียหายของรากของต้นอ่อนผักหวานป่าขณะย้ายจากถุงเพาะชำพลาสติกลงปลูกในดิน ส่งผลให้ต้นอ่อนส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ จึงได้ทดลองทำเบ้ากุดจี่เทียมที่ผลิตจากมูลโคที่ผสมกับดินเหนียวแล้วนำมาปั้นขึ้นรูปเป็นทรงกลม ภายในบรรจุเส้นใยของลำต้นมันสำปะหลังจากนั้นจึงเติมเชื้อรา T. harzianum ซึ่งมีส่วนช่วยในการเติบโตของต้นอ่อนผักหวานป่า นอกจากนี้ ยังได้นำผงที่ได้จากใบสะเดานำไปทารอบๆ บริเวณด้านนอกของเบ้ากุดจี่เทียม เพื่อป้องกันการทำลายของปลวก ผลปรากฎว่าการใช้เบ้ากุดจี่เทียมแทนถุงพลาสติกจะช่วยให้อัตราการรอดและการเจริญเติบโตของต้นอ่อนผักหวานป่าดีกว่าการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนการลดการใช้ถุงพลาสติกในการเพาะต้นอ่อนผักหวานป่า และยังสนับสนุนแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

9879905593998

        รางวัลจาก USAID from the American People ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชากรโลก ลดความยากจน และส่งเสริมการป้องกันประชาธิปไตยในระดับนานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมการป้องกันโรคระบาด การป้องกันและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และสนับสนุนเกษตรกรในการสร้างอาชีพที่เข้มแข็ง มอบรางวัลสเปเชียลอวอร์ด ด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม มอบทุนการศึกษา 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับ นางสาวน้ำผึ้ง ปัญญา นายพิรชัช คชนิล และนายเจษฎา สิทธิขันแก้ว กับโครงงาน “การพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง” โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย อาจารย์ที่ปรึกษา นายเกียรติศักดิ์ อินราษฏร

        นายพิรชัช คชนิล อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานของกลุ่มตนว่า โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง โดยทำการศึกษาสมบัติของยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ ได้แก่ ยางมะกอกป่า ยางงิ้วป่า และยางมะค่า กับกัวกัมและพอลีอะคิเลต พบว่ายางมะกอกป่ามีการดูดซับน้ำ และการอุ้มน้ำ สูงกว่ายางไม้ชนิดอื่นๆ และสามารถย่อยสลายได้เร็วกว่าพอลีอะคริเลตซึ่งเป็นพอลีเมอร์สังเคราะห์ นอกจากนี้ พบว่าการเคลือบเมล็ดพันธุ์ด้วยยางยางมะกอกป่าจะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของแมลง การเกิดเชื้อรา และช่วยในการอุ้มน้ำของเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ได้ดีกว่าการเคลือบเมล็ดพันธ์ข้าวด้วยยางไม้อีกสองชนิด ดังนั้น ความรู้ที่ได้จากโครงงานนี้จะเป็นแนวทางในการช่วยเกษตรสามารถปลูกข้าวได้ในสภาพแวดล้อมที่ที่แห้งแล้งได้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการลดการใช้น้ำในการเพาะปลูก

1384369
        และรางวัลสเปเชียลอวอร์ดจาก สมาคมเคมีอเมริกัน (Special Awards จาก American Chemical Society) ให้กับ นายปุถุชน วงศ์วรกุล นายชวิศ แก้วนุรัชดาสร และนางสาวภัทรนันท์ บุญชิต จากโครงงาน “การสังเคราะห์อนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนจากน้ำมันหมูเหลือใช้เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเล” โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง อาจารย์ที่ปรึกษา นายภานุพงศ์ ภูทะวัง

        นายปุถุชน วงศ์วรกุล อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานตนเองว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีแนวโน้มที่จะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในอนาคต ทำให้เราต้องนำเข้าพลังงานไฟฟ้าบางส่วนจากประเทศลาว เพื่อให้มีกระแสไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น โครงงานนี้จึงมีแนวคิดที่จะศึกษา การผลิตเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเลเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ไม่มีวันหมด โดยการสังเคราะห์และติดตั้งตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยานี้ได้จจากการสังเคราะห์จากการนำแท่งเหล็กและน้ำมันหมูเหลือใช้มาผ่านกระบวนการสลายพลาสมา จากนั้นนำอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนที่สังเคราะห์ได้มาศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพของมัน เมื่อเรามีอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนที่มีคุณภาพดีจะช่วยในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเลได้ดียิ่งขึ้น

         ผศ.ดร.รวิน กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับทุกรางวัลที่เยาวชนได้รับในการแข่งขันครั้งนี้ และขอส่งกำลังใจให้สำหรับทีมที่ยังไม่ได้รับรางวัล ในการรอลุ้นรางวัลแกรนด์ อวอร์ด (Grand Awards) ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ต่อไป

ข่าวสารที่่คล้ายกัน