เมืองฟินิกส์ สหรัฐอเมริกา / วันที่ 16 พฤษภาคม 2562 - เด็กไทยสร้างชื่อนำโครงงานวิทยาศาสตร์คว้าสเปเชียลอวอร์ด (Special Award) จากผู้สนับสนุนการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนในระดับนานาชาติ The Intel International Science and Engineering Fair 2019 (Intel ISEF) ที่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,800 คน จาก 80 ประเทศมาร่วมแข่งขันถึง 3 รางวัล จากผลงานโครงงาน "การพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง" จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย โครงงาน "เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช" โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา”จ.ฉะเชิงเทรา “การสังเคราะห์อนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนจากน้ำมันหมูเหลือใช้เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเล” โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ณ เมืองฟินิกส์ รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวถึงการนำเยาวชนไทยเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนในระดับนานาชาติ The Intel International Science and Engineering Fair 2019 (Intel ISEF) โดยการผนึกกำลังระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม ระหว่างวันที่ 12 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ณ เมืองฟินิกส์ รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีนี้มีตัวแทนเยาวชนทีมไทยเข้าร่วมแข่งขัน 17 ทีม
โดยในค่ำวันที่ 16 พฤษภาคม ได้มีการประกาศผลสเปเชียลอวอร์ด หรือรางวัลพิเศษจากผู้สนับสนุน 45 ราย อาทิ 1. องค์การการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) 2. มูลนิธิ IEEE เป็นสมาคมวิชาชีพที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่อุทิศตนเพื่อพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความเป็นเลิศเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ 3. Sigma Xi องค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก 4. USAID from the American People องค์กรซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชากรโลก ลดความยากจน และส่งเสริมการป้องกันประชาธิปไตยในระดับนานาชาติ 5. Association for the Advancement of Artificial Intelligence สมาคมเพื่อความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ เป็นสมาคมวิทยาศาสตร์ที่อุทิศให้กับการพัฒนาความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกลไกพื้นฐานของความคิดและพฤติกรรมที่ชาญฉลาดและศูนย์รวมของพวกเขาในเครื่องจักร โดยจะทำการคัดเลือกผลงานเยาวชนที่สามารถนำไปต่อยอดและสามารถผลิตได้จริง
ผลปรากฏว่าเยาวชนไทยสามารถทำผลงานเข้าตาคว้ารางวัลสเปเชียลอวอร์ดได้ถึง 3 รางวัล จากองค์กรชั้นนำของโลก ได้แก่ Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society องค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก มอบรางวัลสเปเชียลอวอร์ด ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพสำหรับการวิจัยข้ามสาขา และการทำงานเป็นทีมที่ ให้กับ นายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ และนางสาวสุทธิดา เอี่ยมสอาด โครงงาน "เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช" โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษานายนิรันดร์ เหลืองสวรรค์
นายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานของกลุ่มตนว่า ผักหวานป่าเป็นผักเศรษฐกิจที่มีผู้คนนิยมรับประทานกันมาก เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แต่มีปริมาณผลผลิตที่ได้ค่อนข้างต่ำซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จากการศึกษา พบว่าอัตราการรอดชีวิตของต้นอ่อนผักหวานป่าค่อนข้างต่ำ เนื่องจากการเสียหายของรากของต้นอ่อนผักหวานป่าขณะย้ายจากถุงเพาะชำพลาสติกลงปลูกในดิน ส่งผลให้ต้นอ่อนส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ จึงได้ทดลองทำเบ้ากุดจี่เทียมที่ผลิตจากมูลโคที่ผสมกับดินเหนียวแล้วนำมาปั้นขึ้นรูปเป็นทรงกลม ภายในบรรจุเส้นใยของลำต้นมันสำปะหลังจากนั้นจึงเติมเชื้อรา T. harzianum ซึ่งมีส่วนช่วยในการเติบโตของต้นอ่อนผักหวานป่า นอกจากนี้ ยังได้นำผงที่ได้จากใบสะเดานำไปทารอบๆ บริเวณด้านนอกของเบ้ากุดจี่เทียม เพื่อป้องกันการทำลายของปลวก ผลปรากฎว่าการใช้เบ้ากุดจี่เทียมแทนถุงพลาสติกจะช่วยให้อัตราการรอดและการเจริญเติบโตของต้นอ่อนผักหวานป่าดีกว่าการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนการลดการใช้ถุงพลาสติกในการเพาะต้นอ่อนผักหวานป่า และยังสนับสนุนแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รางวัลจาก USAID from the American People ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชากรโลก ลดความยากจน และส่งเสริมการป้องกันประชาธิปไตยในระดับนานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมการป้องกันโรคระบาด การป้องกันและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และสนับสนุนเกษตรกรในการสร้างอาชีพที่เข้มแข็ง มอบรางวัลสเปเชียลอวอร์ด ด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม มอบทุนการศึกษา 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับ นางสาวน้ำผึ้ง ปัญญา นายพิรชัช คชนิล และนายเจษฎา สิทธิขันแก้ว กับโครงงาน “การพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง” โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย อาจารย์ที่ปรึกษา นายเกียรติศักดิ์ อินราษฏร
นายพิรชัช คชนิล อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานของกลุ่มตนว่า โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง โดยทำการศึกษาสมบัติของยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ ได้แก่ ยางมะกอกป่า ยางงิ้วป่า และยางมะค่า กับกัวกัมและพอลีอะคิเลต พบว่ายางมะกอกป่ามีการดูดซับน้ำ และการอุ้มน้ำ สูงกว่ายางไม้ชนิดอื่นๆ และสามารถย่อยสลายได้เร็วกว่าพอลีอะคริเลตซึ่งเป็นพอลีเมอร์สังเคราะห์ นอกจากนี้ พบว่าการเคลือบเมล็ดพันธุ์ด้วยยางยางมะกอกป่าจะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของแมลง การเกิดเชื้อรา และช่วยในการอุ้มน้ำของเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ได้ดีกว่าการเคลือบเมล็ดพันธ์ข้าวด้วยยางไม้อีกสองชนิด ดังนั้น ความรู้ที่ได้จากโครงงานนี้จะเป็นแนวทางในการช่วยเกษตรสามารถปลูกข้าวได้ในสภาพแวดล้อมที่ที่แห้งแล้งได้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการลดการใช้น้ำในการเพาะปลูก
และรางวัลสเปเชียลอวอร์ดจาก สมาคมเคมีอเมริกัน (Special Awards จาก American Chemical Society) ให้กับ นายปุถุชน วงศ์วรกุล นายชวิศ แก้วนุรัชดาสร และนางสาวภัทรนันท์ บุญชิต จากโครงงาน “การสังเคราะห์อนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนจากน้ำมันหมูเหลือใช้เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเล” โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง อาจารย์ที่ปรึกษา นายภานุพงศ์ ภูทะวัง
นายปุถุชน วงศ์วรกุล อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานตนเองว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีแนวโน้มที่จะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในอนาคต ทำให้เราต้องนำเข้าพลังงานไฟฟ้าบางส่วนจากประเทศลาว เพื่อให้มีกระแสไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น โครงงานนี้จึงมีแนวคิดที่จะศึกษา การผลิตเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเลเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ไม่มีวันหมด โดยการสังเคราะห์และติดตั้งตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยานี้ได้จจากการสังเคราะห์จากการนำแท่งเหล็กและน้ำมันหมูเหลือใช้มาผ่านกระบวนการสลายพลาสมา จากนั้นนำอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนที่สังเคราะห์ได้มาศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพของมัน เมื่อเรามีอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนที่มีคุณภาพดีจะช่วยในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเลได้ดียิ่งขึ้น
ผศ.ดร.รวิน กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับทุกรางวัลที่เยาวชนได้รับในการแข่งขันครั้งนี้ และขอส่งกำลังใจให้สำหรับทีมที่ยังไม่ได้รับรางวัล ในการรอลุ้นรางวัลแกรนด์ อวอร์ด (Grand Awards) ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ต่อไป