NSM จับมือ AFRIMS และสถานทูตสหรัฐฯ เปิดนิทรรศการ “ยุง...พาหะนำโรค” พร้อมชูเป็นคลังตัวอย่าง “ยุง” ที่สมบูรณ์ที่สุดในไทยกว่า 50,000 ตัวอย่าง

NSM จับมือ AFRIMS และสถานทูตสหรัฐฯ เปิดนิทรรศการ “ยุง...พาหะนำโรค” พร้อมชูเป็นคลังตัวอย่าง “ยุง” ที่สมบูรณ์ที่สุดในไทยกว่า 50,000 ตัวอย่าง

20-12-2024
๊ํPPO

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดตัวนิทรรศการ “ยุง...พาหะนำโรค” ชวนไปค้นพบความมหัศจรรย์ของเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยาวนานของการศึกษายุงในประเทศไทย พร้อมชมคลังตัวอย่างยุงที่เก่าแก่จำนวนมากกว่า 50,000 ตัวอย่าง โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ NSM พร้อมด้วย พันเอก เอริค การ์เจส ผู้อำนวยการแผนกรีโทรไวโรโลจี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร สหรัฐอเมริกา (AFRIMS) และคุณมาร์ค กิลคีย์ ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียใต้-แปซิฟิก สำนักงานตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมพิธีเปิดฯ ดังกล่าว ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ื1NM

ผศ.ดร.รวิน กล่าวว่า “สำหรับนิทรรศการ ‘ยุง...พาหะนำโรค’ เป็นนิทรรศการชุดใหม่ที่เราได้พัฒนาขึ้นมาร่วมกับ AFRIMS และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้และสัมผัสถึงความสำคัญและอันตรายของยุงในฐานะพาหะนำโรค และยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยยุง เพื่อการควบคุมและกำจัดยุงที่เป็นพาหะนำโรค เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นเมืองร้อน การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกถือว่าเป็นปัญหาที่เราต้องช่วยกันแก้ไข ซึ่งนิทรรศการชุดนี้จะช่วยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุงเพิ่มมากขึ้น และสามารถนำความรู้มาต่อยอดและปรับใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคนได้

NMU7OPIU8

ที่สำคัญคนไทยจะได้ชมตัวอย่างจริงของยุงที่ถูกค้นพบในประเทศไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในคลังตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเป็นอย่างดี และในวันนี้เราก็ได้รับมอบตัวอย่างยุงจาก AFRIMS กว่า 50,000 ตัวอย่าง ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี มีอายุประมาณ 45 - 60 ปี การรับมอบครั้งนี้ต้องขอขอบคุณทาง AFRIMS ที่ช่วยมาเติมเต็มความสมบูรณ์ทำให้พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. กลายเป็นคลังตัวอย่างยุงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้มีคุณค่าทางวิชาการอย่างยิ่งและจะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องไปสู่สาธารณชน พร้อมจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจงานทางด้านอนุกรมวิธาน” ผศ.ดร.รวิน กล่าว

NMU78

พันเอก เอริค การ์เจส ผู้อำนวยการแผนกรีโทรไวโรโลจี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร สหรัฐอเมริกา (AFRIMS)  กล่าวว่า “สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร สหรัฐอเมริกา เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการแพทย์ทหาร และเราเห็นความสำคัญของการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เพื่อพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผมรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานิทรรศการชุดนี้ โดยการมอบตัวอย่างยุงที่เก็บรักษาไว้อย่างดีกว่า 50,000 ตัวอย่างให้กับ NSM ถือเป็นการเฉลิมฉลองความร่วมมือกว่า 60 ปีในการพัฒนางานวิจัยทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกีฏวิทยาและการต่อสู้กับโรคที่มียุงเป็นพาหะ นับจากสมัยบุกเบิกการศึกษาเรื่องไข้เหลืองของ พันตรี นายแพทย์วอลเตอร์ รีด ในช่วงการก่อสร้างคลองปานามา กองทัพบกสหรัฐฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับโรคที่มียุงเป็นพาหะ อาทิ มาลาเรีย ไข้เลือดออก และไข้สมองอักเสบเจอี แผนกกีฏวิทยาของสถาบัน AFRIMS ได้นำการวิจัยมาใช้ควบคุมยุงที่เป็นพาหะนำโรคในหลากหลายวิธี ทั้งชีวภาพ เคมีกำจัดแมลง และการจัดการพาหะนำโรคแบบผสมผสาน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการต่อสู้กับโรคที่มาจากยุง ลดความสูญเสียในระดับโลก การมอบตัวอย่างยุงในครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์อันดีต่อประชาคมวิทยาศาสตร์ไทยสำหรับความร่วมมือที่มีมาหลายทศวรรษ และมุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความร่วมมือต่อเนื่องในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข หวังว่าตัวอย่างเหล่านี้จะช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับนิทรรศการและจุดประกายให้คนสนใจในการศึกษาวิจัยด้านอนุกรมวิธานยุงและสาธารณสุข”

NMU79

คุณมาร์ค กิลคีย์ ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียใต้-แปซิฟิก สำนักงานตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า “สหรัฐอเมริกาได้เผชิญกับปัญหาท้าทายในการควบคุมยุงและการจัดการกับโรคที่เกิดจากยุง อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรที่ก้าวหน้า สหรัฐอเมริกาจึงสามารถต่อสู้กับการระบาดของโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากยุงได้ เช่น ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Fever) และโรคไข้สมองอักเสบม้าอีสเทิร์น (Eastern Equine Encephalitis) ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นการย้ำเตือนถึงความซับซ้อนและการคงอยู่ของภัยคุกคามจากยุงทั่วโลก ในประเทศไทยการแพร่กระจายของยุงพันธุ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่น่าสังเกตอย่างยิ่ง เนื่องจากภูมิอากาศที่ร้อนชื้นเอื้อต่อการขยายพันธุ์ของยุงหลายสายพันธุ์ อาทิ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงก้นปล่อง (Anopheles) ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก ไวรัสซิก้าและมาลาเรีย การต่อสู้กับยุงและโรคที่เกิดจากยุงจำเป็นต้องอาศัยการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ผ่านงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีในองค์รวม ความร่วมมือการจัดแสดงนิทรรศการฯครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในระดับประเทศ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับภัยคุกคามจากยุง นิทรรศการชุดนี้จะเป็นต้นแบบสำคัญในการให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนเกี่ยวกับการแพร่กระจายของยุงสายพันธุ์ต่าง ๆ พร้อมแนวทางการป้องกันและลดปัญหาการเกิดโรคระบาดในประเทศไทยในอนาคต”

ื1NM2NMU710

นิทรรศการ “ยุง...พาหะนำโรค” จะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2567 - 2 กุมภาพันธ์ 2568 สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการฯ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เปิดให้บริการวันอังคาร - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.30 - 15.00 น. และวันเสาร์ - วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 9.30 - 17.00 น. (ปิดบริการทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2577 9999 ต่อ 2122 - 2123 หรือ Facebook: NSM Thailand

WEAD7WEAD713IUY74