(9 สิงหาคม 2565) เวลา 8.45 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นำคณะผู้บริหารกระทรวง และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565” ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน” (Art – Science –Innovation for Sustainable Society) โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ต้นแบบสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังได้นำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เข้าร่วมด้วย
ปีนี้มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจัดกิจกรรมขึ้น 2 แห่ง เพื่อให้เข้าถึง และครอบคลุมกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยให้สามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งแห่งแรกจัดขึ้น ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม 2565 โดยกิจกรรมไฮไลต์ที่ห้ามพลาด ได้แก่ นิทรรศการแก้วเปลี่ยนโลก (Through the Looking Glass) นิทรรศการที่เล่าเรื่อง “แก้ว” ในทุกมิติ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ผ่านการเปิดมุมมองใหม่ ๆ และการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ จัดแสดงฟองน้ำแก้ว สิ่งมีชีวิตที่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบ รวมทั้งหินควอตซ์ แก้วอุลกมณี แก้วมูราโนโน่ เป็นตัน นิทรรศการ ลอดช่อง ส่องถ้ำ (Cave and Karst) จำลองถ้ำและคาสต์เพื่อเปิดพรมแดนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ พร้อมได้เรียนรู้ “ดาวเด่นถ้ำไทย” สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวให้อาศัยอยู่ภายในถ้ำได้อย่างน่าอัศจรรย์ อาทิ มดตะลานถ้ำ ที่พยายามปรับตัวเข้าไปอาศัยอยู่ในอุโมงค์เหมืองแร่ ซึ่งเป็นมดชนิดใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการตั้งชื่อ และมดง่ามถ้ำอาจารย์สมศักดิ์ ที่สร้างรังอยู่ตามซอกหินในถ้ำที่ค่อนข้างมืด พบในถ้ำอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และยังไม่เคยพบมดชนิดนี้นอกถ้ำมาก่อน
นอกจากนี้ได้กำหนดจัดเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งใจกลางกรุงเทพ ในชื่อ NST Fair Science Carnival Bangkok ในรูปแบบ Science Carnival จัดขึ้นที่สามย่านมิตรทาวน์ วันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2565 กิจกรรมภายในงาน อาทิ Makers Science & Challenges กิจกรรมเวิร์กชอปสำหรับคนชื่นชอบการประดิษฐ์ ร่วมสนุกและส่งเสียงเชียร์กับการแข่งหุ่นยนต์เห่ย (Hebocon) สิ่งประดิษฐ์จากขยะที่จะมาสร้างความสนุกสนานให้กับทุกท่าน พร้อมเพลิดเพลินไปกับแสงสีของขบวน Electric Parade ในยามค่ำคืน และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับเยาวชน นักเรียน และผู้สนใจเข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2565 จัดโดย อว. ทั้ง 2 แห่ง ติดตามรายละเอียดของงาน เข้าร่วมกิจกรรมทางออนไลน์ Online Activities ชมการ LIVE สด และเยี่ยมชมนิทรรศการและกิจกรรมภายในงานเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook: NSTFair Thailand (www.facebook.com/nstfairTH)