เป็นอีกปีที่คึกคักและได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก สำหรับงานมหกรรมวิทย์ฯ โดยปีนี้ นิทรรศการหลักมาในคอนเซ็ปท์ “ผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์กับ 7 Wonder Exhibitions” โดย 1 ใน 7 นิทรรศการหลักที่ได้รับความสนใจจากบรรดาเด็กๆ ทั้งหลาย คือ นิทรรศการแพลนท์ เรนเจอร์ (Plant Rangers) ขบวนการพิทักษ์พืช พิทักษ์โลก
นิทรรศการแพลนท์ เรนเจอร์ จัดขึ้นเพื่อฉลองวาระสำคัญแห่งปีสากลแห่งสุขภาพพืช (International Year of Plant Health 2020) เพื่อมุ่งหวังขจัดความหิวโหย ความยากจน ส่งเสริมเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อม นั่นจึงเป็นเหตุผลในการสร้างตัวละครต่างๆ เพื่อสื่อสารและให้ความรู้แก่เด็กได้เรียนรู้อย่างเข้าใจง่าย เกี่ยวกับตระหนักในการเห็นคุณค่าของสรรพชีวิต
ภายในนิทรรศการ เราจะได้พบกับตัวละครหลักที่เป็นศัตรูตัวฉกาจ อย่าง แพลนท์ คิลเลอร์ ที่มีจิตใจชั่วร้าย ชอบทำลายพืชทุกชนิด เมื่อมีตัวโกง พระเอกจึงเกิดขึ้น เหล่าแพลนท์ เรนเจอร์ 5 สี 5 ตัว จึงได้ออกมาต่อสู้กับศัตรูร้ายที่หวังทำลายพืชบนโลกของเรา โดยหวังเชิญชวนเด็กๆ ให้มาฝึกฝนเป็นผู้กล้า เพื่อร่วมขบวนการพิทักษ์พืช แพลนท์ เรนเจอร์ เพื่อช่วยกอบกู้โลกให้พ้นวิกฤตินี้... เหล่าแพลนท์ เรนเจอร์ที่ว่ามีหน้าที่แตกต่างกันไป ได้แก่ Plant Rangers Home สีเหลือง ทำหน้าที่ปกป้องพืชให้บ้าน มีอาวุธเป็นถุงมือต้นไม้ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในด้านการป้องกันและยึดตรึงศัตรู เพียงได้สัมผัสกับพื้นดินก็สามารถปล่อยรากไม้หรือเถาวัลย์มาพันรัดเกี่ยวศัตรูได้, Plant Rangers Food สีแดง ทำหน้าที่ปกป้องพืชให้อาหาร มีอาวุธเป็นปืนผลไม้ที่สามารถเปลี่ยนผลไม้ปกติ ให้กลายเป็นกรดผลไม้ที่สามารถทำให้ Plant Killer ย่อยสลายได้, Plant Rangers O2 สีเขียว ทำหน้าที่ปกป้องพืชให้ออกซิเจน มีอาวุธเป็นโล่ใบไม้ ไว้ป้องกันศัตรูด้วยการรับแสงแดดเพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง และปลดปล่อยพลังอากาศบริสุทธิ์ออกมาต้านก๊าซพิษและฝุ่นในอากาศ, Plant Rangers H2o สีน้ำเงิน ทำทำหน้าที่ปกป้องพืชให้น้ำ มีอาวุธเป็นบูมเมอร์แรงที่สามารถสร้างกระแสลมร้อนและกระแสลมเย็น เมื่อปะทะกันจะเกิดเป็นพายุงวงช้างที่สามารถพัดและทำลายศัตรูได้ อีกทั้งยังสามารถปล่อยน้ำฝนเพื่อดับไฟป่าและมอบความชุ่มชื้น เพื่อชุบชีวิตให้แก่พืช, Plant Rangers Harmony สีชมพู ทำหน้าที่ปกป้องพืชให้ความรื่นรมย์ มีดาวกระจายดอกไม้เป็นอาวุธ สามารถขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมได้ เมื่อหมุนดาวกระจายจะมีสายลมและกลีบดอกไม้โปรยปรายออกมา โดยส่งกลิ่นหอมของดอกไม้ ช่วยฟื้นฟูพลังงาน เยียวยาร่างกาย และจิตใจให้กับศัตรูเป็นคนที่ดีขึ้น
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “การนำความรู้มาผสมผสานกับการสร้างคาแรคเตอร์ให้เป็นเรื่องที่สนุกและเข้าใจง่าย จึงทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับพืชมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยข้อมูลเน้นเล่าเรื่องราวถึงคุณประโยชน์ของพืชในหลากหลายด้าน อาทิ แง่บำบัดจิตใจที่ธรรมชาติจะช่วยเสริมสร้างสติ ปัญญา รวมถึงพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้ดีขึ้น แง่คุณประโยชน์ของอาหาร พืชสามารถกินได้ดอก ผล ต้น รากใบ ที่สำคัญ หากเรากินพืชเป็นประจำ ชีวิตจะดีขึ้นเพราะพืชมีวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน ล้วนแต่เป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกายในการเสริมสร้างความแข็งแรงและการเจริญเติบโต อีกทั้งพืชหลายชนิด มีคุณสมบัติทางยา สามารถช่วยป้องกันรักษา และบรรเทาโรคบางชนิดได้อีกด้วย
แต่ในปัจจุบัน พืชพรรณที่ให้ประโยชน์แก่เรากำลังป่วยหนัก เพราะมนุษย์ถูก แพลนท์ คิลเลอร์ ครอบงำความคิด โดยเลือกใช้สารเคมีบำรุงกำจัดศัตรูพืชส่งผลให้เกิดสารพิษตกค้างในพืช และยังส่งต่อสารพิษนั้นมาสู่มนุษย์ ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือสารเคมีเหล่านั้นหากกระจายลงสู่แม่น้ำ แผ่นดิน ไปจนถึงอากาศ จะก่อเกิดเป็นภัยพิบัติต่อมนุษยชาติ และสารพิษที่ปนเปื้อนในพืชผักเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ในระยะยาวได้
ข้อมูลเหล่านี้ในนิทรรศการจะสะท้อนให้เห็นว่า พืชไม่เคยได้ประโยชน์จากเรา มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่เอาแต่ตักตวงผลประโยชน์จากพืชเพียงฝ่ายเดียว บุกรุกพื้นที่ป่า เผาป่าเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ส่งผลให้ระบบนิเวศเสียหาย ขาดความสมดุล เกิดภัยแล้ง น้ำขาดแคลน พืชสัตว์ล้มตาย เกิดผลกระทบร้ายแรงเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด หากมนุษย์ยังขาดจิตสำนึก ปราศจากการอนุรักษ์ฟื้นฟู สุดท้ายระบบนิเวศขาดสมดุลและทุกชีวิตจะสูญสิ้นที่อยู่อาศัย ดังนั้น ทางแก้ที่ทำให้เราช่วยพืช ช่วยธรรมชาติได้ คือิ การทำเกษตรยั่งยืนอาจเป็นทางรอดวิกฤต ระบบนี้จะก่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ”
หากต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด
เปลี่ยนจาก “เคมี” เป็น “อินทรีย์”
เปลี่ยนจาก “ทำลาย” เป็น “รักษา”
เปลี่ยนจาก “เผาป่า” เป็น “ปลูกเพิ่ม”
เปลี่ยนจาก “รอริเริ่ม” เป็น “ลงมือทำ”
อย่างไรก็ตาม หากเราใส่ใจธรรมชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว เราจะมีความสุขในแบบยั่งยืนได้
“อย่าลืมว่าอนาคตของเราจะเป็นอย่างไรอยู่ที่การตัดสินใจในวันนี้...”