กรุงเทพฯ – 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM พร้อมด้วย คุณเอกสิทธิ์ ลัคนานิธิพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจร่วมทุน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย คุณภรณี กองอมรภิญโญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่องค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียนิวซีแลนด์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ผู้อำนวยการโครงการห้องเรียนเคมีดาว ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อานวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ร่วมงานฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการห้องเรียนเคมีดาว พร้อมเผยผลรางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน หรือ Dow-CST Award 2024 ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาว ณ แกรนด์ฮอลล์ ทรู ดิจิทัล พาร์ค
ผศ.ดร.รวิน เผยว่า “NSM ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งมั่นส่งเสริมสังคมไทยให้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์ ตื่นเต้นกับการเรียนรู้ ชวนทุกคนก้าวไปสู่ดินแดนแห่งการค้นพบความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ ที่พร้อมขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ 2024 DOW-CST AWARD ภายใต้โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” การประกวดในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้เยาวชน ได้แสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ การได้ลงมือทำโครงงาน ไม่เพียงแต่เป็นการเรียนรู้ทฤษฎีในห้องเรียน แต่ยังเป็นการฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ และการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ของเยาวชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นและสามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต
ต้องชื่นชมเด็กไทยที่ได้รับรางวัล หวังว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนาให้เยาวชนมีความรู้ความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม โดยเฉพาะวิชาสาขาที่เกี่ยวข้องกับเคมีมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การจุดประกายการค้นคว้าให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศต่อไป”
นายเอกสิทธิ์ กล่าวว่า “โครงการห้องเรียนเคมีดาวได้ดำเนินงานต่อเนื่องกว่า 10 ปี ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 1,200 แห่ง และอบรมคุณครูไปมากกว่า 2,100 คน รวมถึงมีการเปิดตัวเว็บไซต์ http://www.DowChemistryClassroom.com เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่แนวทางการเรียนการสอนด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น โดยในปีนี้เราได้รับใบสมัครจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่าจากการส่งเสริมปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คุณครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำองค์ความรู้ไปคิดค้น ต่อยอด และนำอุปกรณ์ที่ใกล้ตัวและหาได้ง่ายมาปรับใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน พัฒนาและย่อส่วนให้กลายเป็นการทดลองใหม่ ๆ ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างแท้จริง”
ผลการแข่งขัน DOW-CST Award ประจำปี 2567 ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
รางวัลยอดเยี่ยม ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้แก่ โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน จากโครงงานการทำความสะอาดเครื่องเงินจากสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันโดยใช้หลักการของไฟฟ้าเคมี
รางวัลดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเปร็งวิสุทธาธิบดี จ.ฉะเชิงเทรา จากโครงงานการผลิตและทดสอบคุณสมบัติของโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท
รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ โรงเรียนเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จ.อ่างทอง และโรงเรียนจัตุรัสวิทยาคาร จ.ชัยภูมิ ได้รับเงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท
ผลการแข่งขันในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
รางวัลยอดเยี่ยม ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้แก่ โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม จ.นราธิวาส จากโครงงานหวานระดับไหนให้ยีสต์ลองตรวจดู
รางวัลดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพฯ จากโครงงานการแยกน้ำด้วยกระแสไฟฟ้าภายใต้อินดิเคเตอร์ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท
รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ โรงเรียนสะเดา “ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์” จ.สงขลา และโรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ได้รับเงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท
นอกจากนี้ โครงการฯ ได้ มอบรางวัลพิเศษ Popular View จำนวน 1 รางวัล ให้กับทีมที่มียอดชมคลิปการทดลองสูงสุดบน YouTube ของ Dow Thailand โดยตัดสินจากยอดการชมวิดีโอเท่านั้น ได้แก่ โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ซึ่งได้รับเงินรางวัลพิเศษ 8,000 บาท ทั้งนี้
คุณครูที่ปรึกษาของทั้ง 36 ทีม ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ จะได้รับสิทธิเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2025) ที่จะจัดขึ้นในปี 2568 ต่อไป