อิมแพ็ค เมืองทองธานี / มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2561

อิมแพ็ค เมืองทองธานี / มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2561

08-12-2021
อิมแพ็ค เมืองทองธานี / มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2561

20 สิงหาคม 2561- อิมแพ็ค เมืองทองธานี / มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2561 งานที่รวบรวมสุดยอดผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและธรรมชาติวิทยาทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก หนึ่งในไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ คือ นิทรรศการ Fig Festival ไทรสุขสันต์ นำเสนอเรื่องราวความมหัศจรรย์ของธรรมชาติพืชสกุลไทรที่มีความสำคัญต่อมนุษย์และระบบนิเวศ เพื่อให้ผู้เข้าชมเกิดความตระหนักต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 

          ดร.ภาณุมาศ จันสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธาน (taxonomy) พืชสกุลไทร และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งนี้ กล่าวว่า หนึ่งในนิทรรศการไฮไลท์สร้างแรงบันดาลใจของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปีนี้ ชื่อว่านิทรรศการ Fig Festival ไทรสุขสันต์ ได้นำเสนอถึงความสำคัญของพืชจำพวก fig คือกลุ่มโพธิ์ ไทร มะเดื่อ ที่เป็นทั้งแหล่งผลิตอาหาร และเป็นตัวขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศดำรงอยู่ได้  เป็นพืชที่มีประโยชน์หลากหลายต่อสรรพสัตว์ในป่าและคนทั่วโลก รวมถึงเรื่องราวความเชื่อและวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับไทร โดยในนิทรรศการนี้ได้นำเสนอในรูปแบบผสมผสานระหว่างตัวอย่างพืชและสัตว์จริง นำมาจัดแสดงในป่าแนวอวตาร 

S 3711053
ไทร คือนักบุญแห่งป่า และนักฆ่าแห่งพงไพร
เหตุที่ได้ฉายาว่า นักบุญแห่งป่า คือเมื่อใดที่ไทรผลิตลูกออกผลเป็นอาหารให้แก่เหล่าสัตว์ป่าน้อยใหญ่ทั่วทั้งผืนป่า  ณ บริเวณนั้นจะกลายเป็นสถานที่จัดงานรื่นเริง รวมญาติของเหล่าสัตว์ป่า บรรดานกเงือกหลายสายพันธุ์ รวมถึงฝูงนกนานาชนิดที่มากินผลไทร  ส่วนในช่วงที่ลูกไทรสุก และลูกร่วงหล่นลงพื้นจะทำให้ใต้ต้นไทรเป็นแหล่งชุมนุมของเก้ง กวางและหมูป่า  สัตว์บางชนิดที่ไม่ได้มากินลูกไทร แต่ก็มาอาศัยโพรงร่องของต้นไทรเป็นที่พักหลับนอนหรือทำรัง เช่น กระรอก ลิง ค่าง บ่าง ชะนี เขียด กิ้งก่า ตุ๊กแกป่า และแมลงต่างๆ เป็นต้น  ดังนั้น หากขาดพันธุ์พืชชนิดนี้ไป ย่อมเกิดผลกระทบต่อสัตว์ป่าและระบบนิเวศอย่างแน่นอน แม้จะเป็นนักบุญผู้ให้ แต่ไทรยังเป็นนักฆ่าแห่งผืนป่าอีกด้วย  นั่นก็เพราะต้นไทรเมื่อยังเป็นต้นกล้าและลูกไม้นั้น เกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่น แล้วค่อยๆ เติบโต รากอันแข็งแกร่งจะค่อยๆ โอบรัดลำต้นเจ้าบ้านจนไม่อาจขยายออกด้านข้างได้ ขณะที่เรือนยอดด้านบนของไทรก็แผ่ขยายบดบังแสงแดดจนไม้เดิมไม่สามารถสังเคราะห์อาหารได้ ไม้ใหญ่จึงค่อยๆ เหี่ยวเฉา และตายลงเหลือปรากฏแต่เพียงต้นไทรสูงตระหง่าน 

96376

          ดร.ภาณุมาศ กล่าวว่า “ในแต่ละโซนของนิทรรศการจะให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมและแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไทรต่อมนุษย์และระบบนิเวศ ตั้งแต่การเรียนรู้ลักษณะเด่นของไทร, การแสดงถึงความสัมพันธ์ของแมลงกับไทร ที่สัมพันธ์แบบขาดกันไม่ได้,  การจำลองป่าไทรที่มีสัตว์ป่าน้อยใหญ่มาอยู่พึ่งพิงอาศัยมากมาย และร้านอาหาร Figfe’ ที่มนุษย์นำผลิตผลของไทรมาปรุงเป็นอาหาร  นอกจากนั้นแล้ว ยังนำเสนอเรื่องสังคมไทยกับความเชื่อเกี่ยวกับไทร เช่น ต้นไม้ใหญ่มีรุกขเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงกุศโลบายของคนโบราณในการสร้างสำนึกการดูแลป่า เป็นต้น” 

         ขอเชิญชวนเยาวชนไทยมาร่วมกันเปิดโลกทัศน์ สัมผัสเรียนรู้วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาอย่างเพลิดเพลินในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ 2561” ตั้งแต่วันนี้ - 26 สิงหาคม 2561 เวลา 09.00-19.00 น. ณ ฮออล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ