องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัด “การสัมมนาวิชาการนานาชาติพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ครั้งที่ 4: วาระแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ” (The 4th International Symposium on Natural History Museums: Era of Ecosystem Restoration) ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการให้บริการด้านวิชาการ ยกระดับการจัดการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในงานวิจัยและงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ระหว่างสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนา เผยแพร่ และเก็บรักษาองค์ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาต่อไป โดยงานจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21 - 22 ธันวาคม 2566 ณ ห้องแสงเดือน-แสงเทียน พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “กระทรวง อว. ตระหนักถึงความสำคัญในด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ การส่งเสริมงานวิจัยต่าง ๆ การจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการสร้างเวทีให้นักวิจัยมาเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านธรรมชาติวิทยา ตลอดจนเป็นการสร้างพันธมิตรในการจัดการข้อมูลความรู้และสื่อสารงานวิชาการทั้งระหว่างบุคคลและหน่วยงาน การสัมมนาฯ ไม่เพียงแต่เป็นการเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้จากงานวิจัยต่อสาธารณะแล้ว แต่ยังเป็นเวทีสำหรับนักธรรมชาติวิทยารุ่นใหม่ทั้งในและต่างประเทศได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้งานวิจัยเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยได้ยกระดับองค์ความรู้ของนักวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และผลงานวิจัยเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดได้ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถและความเข้มแข็งในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยต่อไป”
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า “NSM ถือเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญคือการเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัย รวบรวมวัสดุอุเทศ เผยแพร่ความรู้และจัดแสดงนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทั้งนี้ อพวช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ทางวิชาการด้านธรรมชาติวิทยา รวมถึงการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านธรรมชาติวิทยา จึงได้ดำเนินการจัด “การสัมมนาวิชาการนานาชาติพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ครั้งที่ 4: วาระแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ” (The 4th International Symposium on Natural History Museums: Era of Ecosystem Restoration) ขึ้น โดยปีนี้ผู้ให้ความสนใจจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมงานมากกว่า 150 คน โดยมีการนำเสนอผลงาน ภาคบรรยายทั้งหมด 58 เรื่อง จาก 10 ประเทศ โดยแบ่งเป็น 11 กลุ่มย่อย และภาคโปสเตอร์ 23 เรื่อง จาก 4 ประเทศ”
นอกจากนี้ การสัมมนาฯ ยังเปิดโอกาสให้นักธรรมชาติวิทยารุ่นเยาว์ได้มานำเสนอผลงานวิจัยของตนเองอีกด้วย โดยผลงานที่น่าสนใจ ได้แก่ การระบุสัตว์คล้ายไดโนเสาร์ในจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโบสถพระแก้วมรกต โดย ด.ช.ศรัณย์ภัทร อุ่ยละพันธุ์ โรงเรียนนานาชาติฮีทฟิลด์ และลักษณะภายนอกของมดง่ามในประเทศไทยและลาว โดยนายสหรรษภูมิ บุญช่วยเหลือ โรงเรียนสาธิตพิบูลบำเพ็ญมหาวิทยาลัยบูรพา ผลงานของนักธรรมชาติวิทยารุ่นเยาว์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความสนใจในสาขาธรรมชาติวิทยาของเยาวชนไทย ซึ่งนับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต
พร้อมกันนี้ยังมีการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติวิทยา อาทิ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 โดย คุณมะเดี่ยว วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยาผู้หลงใหลการฟังเสียงธรรมชาติ เจ้าของเว็บไซต์ ไพรสาร หรือ Praisan.org เป็นเว็บไซต์รวบรวมเสียงธรรมชาติจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทย บรรยายในหัวข้อ “Praisan (ไพรสาร): The Power of Natural Soundscapes” ที่จะมาชี้ชวนให้เงียบเสียงเราลง เพื่อสดับตรับฟังเสียงของธรรมชาติรอบตัว ชวนตั้งคำถามว่ามีเสียงใดที่หายไปหรือ และเราควรทำอย่างไรไม่ให้สรรพเสียงของธรรมชาติเงียบไป และในวันที่ 22 ธันวาคม 2566 โดย ผศ.น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อ “พญาแร้งไทย : จากอดีตสู่อนาคต Red-headed Vulture: population recovery in Thailand” ที่จะชวนปลุกให้สังคมหันมาสนใจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับนกนักล่า จากวิกฤตประชากรที่ลดลงอย่างน่าใจหาย นำไปสู่การฟื้นฟู ดูแล อนุรักษ์ให้พวกมันยังคงอยู่ในธรรมชาติต่อไป