กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด จัด “โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 3 หวังสื่อสารความคิดและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ให้เป็นเรื่องราวที่เข้าใจได้ ผ่านเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่มีทั้งจินตนาการและความรู้ควบคู่กัน โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท ได้แก่ นายกฤตภาส บุญปสาท จากเรื่อง “กุหลาบที่ปลายฟ้า” ประเภทเยาวชน, นายปิยะโชค ถาวรมาศ จากเรื่อง “บริการสร้างความเป็นส่วนตัว” ประเภทประชาชนทั่วไป
อิมแพ็ค เมืองทองธานี - 25 สิงหาคม 2561 / ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 3 กล่าวว่า โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 3 เป็นความสำเร็จจากการร่วมมือของ 5 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ทั้ง 5 องค์กรได้เห็นความสำคัญของวรรณกรรมเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมสังคมหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น การเขียนวรรณกรรม ไม่ว่าจะเรื่องสั้นหรือนวนิยายแนววิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารความคิดและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องราวที่เข้าใจได้ รวมทั้งสร้างความสนใจในวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน ผ่านความสนุกและบันเทิง สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ ในประเทศไทยงานเขียนนวนิยายหรือเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักแปลมาจากต่างประเทศ น้อยมากที่จะได้เห็นงานเขียนฝีมือคนไทย ซึ่งน่าเสียดายมาก
การประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ในปีนี้ได้รับความสนใจจากนักเขียนหลากหลายสาขาอาชีพ มีคนส่งผลงานเข้าร่วมโครงการประกวดมากถึง 323 เรื่อง มากกว่าการจัดการประกวดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยครั้งแรกในปี 2559 ของการจัดงานนั้น มีผู้ส่งผลงาน 188 เรื่อง ครั้งที่สองในปี 2560 มีผู้ส่งผลงาน 181 เรื่อง โดยปีนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือประเภทเยาวชน ประชาชนทั่วไป และกลุ่ม ผลงานเรื่องสั้นเหล่านั้นล้วนมีคุณภาพยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับปีก่อนๆ ในที่สุดคณะกรรมการจึงตัดสินใจเพิ่มจำนวนรางวัลชมเชยในปีนี้
ผลงานที่ประกวดในระดับเยาวชนปีนี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการทางความคิดที่นอกกรอบและล้ำหน้า หลายเรื่องมีไอเดียใหม่ที่น่าสนใจและไม่เคยมีผู้ใดนำเสนอมาก่อน แต่เสียดายที่ทักษะการร้อยเรื่องราวและภาษายังไม่สมบูรณ์โดดเด่นเท่าแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ดี ผมมั่นใจว่าในอนาคต ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาทักษณะด้านการเขียนอย่างต่อเนื่อง เยาวชนเหล่านี้จะเป็นนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ที่น่าติดตามอย่างแน่นอน
ทางคณะกรรมการได้อ่านและเลือกผลงานที่มีความโดดเด่นด้านเนื้อหา และมีลีลาการเขียนที่น่าสนใจชวนติดตาม ให้เหลือเพียง 15 เรื่อง เพื่อรวมเล่มตีพิมพ์เป็นหนังสือ “กุหลาบบนดวงจันทร์” ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะให้แง่คิด มุมมองที่ทำให้ตระหนักว่าการใช้ชีวิตกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในอนาคต จำเป็นต้องเตรียมตัวและทำความเข้าใจกับมันให้มากขึ้น และหวังว่าจากการประกวดครั้งนี้จะเป็นอีกแรงผลักดันให้เกิดนักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสังคม ผ่านนิทรรศการและกิจกรรม ที่หลากหลาย การได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ จึงถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างความตระหนักให้กับสังคมหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น วิทยาศาสตร์อาจดูเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คน ดังนั้นการนำวิทยาศาสตร์มานำเสนอในรูปแบบ เรื่องสั้น นวนิยาย ที่ค่อยๆ อธิบายผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตทำให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงได้ว่ามันอยู่ในชีวิตเราอย่างไร และในบางครั้งเนื้อหาเกินจริงด้วยสร้างจากจินตนาการ แต่ก็มีจินตนาการในหลายเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์นำมาสร้างเป็นสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่มีให้เห็นในปัจจุบัน หนังสือรวมเรื่องสั้นนแนววิทยาศาสตร์เล่มนี้ จึงเป็นเครื่องมือที่ดีชิ้นหนึ่งที่ทำให้วิทยาศาสตร์เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับความบันเทิง ดิฉันขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันจัดการประกวดครั้งนี้ ขอบคุณนักเขียน และนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ช่วยกันสร้างเรื่องราวอันทรงคุณค่านี้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกิดขึ้นตลอดเวลาและมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เทคโนโลยีหลายอย่างที่เราเห็นหรือใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ล้วนเริ่มต้นจากจินตนาการของคนในอดีตทั้งสิ้น โดยวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องก็ผลักดันให้จินตนาการเป็นจริงได้
การประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 3 นี้เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้ฝึกการคิดทางวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์และมีทักษะในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้คำหรือการเรียบเรียงเหตุผลอธิบายหลักวิทยาศาสตร์ก็ตาม ซึ่งทักษะนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้เขียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเขียนเรื่องสั้น งานวิจัย หรือบทความ เมื่อคนทำงานวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายวิทยาศาสตร์ได้เก่งขึ้น สังคมก็เข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น
นางกนกวลี (พนจปกรณ์) กันไทยราษฎร์ นายกสามาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การอ่านการเขียนในศตวรรษนี้มีความพลิกผัน ต้องมีการปรับตัว นักอ่านรุ่นใหม่ รวมทั้งนักเขียนรุ่นใหม่หันมาสนใจวรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์ในแง่มุมที่ชวนให้คิด แต่มีความจริงให้พิสูจน์ และยังต่อยอดทางปัญญาได้อีก ดังนั้นการเขียนวรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์จึงมีผู้สนใจมากขึ้น และสำหรับปีนี้ ผลงานที่ส่งเข้าประกวดมีมากขึ้น มีแนวทางหลากหลายทั้งพล็อตเรื่อง แนวคิด กลวิธีในการนำเสนอ ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่เกิดขึ้น งานนี้จึงนับเป็นหมุดหมายสำคัญของการอ่านเขียนในแวดวงวรรณกรรม เพื่อให้เกิดสังคมวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยต่อไป
สำหรับผลรางวัลในการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 3 มีดังนี้
ประเภทเยาวชน
• รางวัลชนะเลิศ ผลงานเรื่อง กุหลาบที่ปลายฟ้า โดย กฤตภาส บุญปสาท
• รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ผลงานเรื่อง หุ่นยนต์เสมือนจริง โดย ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
• รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ผลงานเรื่อง พิพิธภัณฑ์มนุษย์ 100% โดย ติณณ์ วราสิทธิชัย
• รางวัลชมเชย
ผลงานเรื่อง ปัญญาปกรณัม โดย Wood
ผลงานเรื่อง Mind Hacker โดย ไท วัฒนา
ผลงานเรื่อง ฝนแม้เพียงสักหยดก็ไม่เคยตกถึงตรงนั้น โดย Vincent
ผลงานเรื่อง หน้ากาก โดย ศิรดา จงวัฒนไพบูลย์
ประเภทประชาชนทั่วไป
• รางวัลชนะเลิศ ผลงานเรื่อง บริการสร้างความเป็นส่วนตัว โดย ปิยะโชค ถาวรมาศ
• รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ผลงานเรื่อง ไม่มีกระต่ายในดวงจันทร์ที่ฉันจากมา โดย ด้นถอยหลัง
• รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ผลงานเรื่อง เมมโมรี่พอยต์ โดย สุวรรณ อำไพ
• รางวัลชมเชย
ผลงานเรื่อง ฝนตกอย่างไรนัยอนาคต โดย อริญชย์ แจ้งสว่าง
ผลงานเรื่อง ฉันและอดัม (Me and Adam) โดย สิตาณัฏฐ์ จริยวิทยาวัฒน์
ผลงานเรื่อง สภาปัญญาชน โดย ภัทร์ วิศิษฏ์วิญญู
ผลงานเรื่อง ห้วงสมุทรแห่งความทรงจำ โดย ไอดิน
ประเภทกลุ่ม
• รางวัลชมเชยผลงานเรื่อง นรปฏิภาค โดย รติธรณ ใจห้าว และ นิพัท ขันไชย