NSM จัดเสวนา “การส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์และการรู้วิทยาศาสตร์ของประชาชน” ขับเคลื่อนการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่มาตรฐานสากล พร้อมสร้างเครือข่ายการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของไทยและนานาชาติ

NSM จัดเสวนา “การส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์และการรู้วิทยาศาสตร์ของประชาชน” ขับเคลื่อนการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่มาตรฐานสากล พร้อมสร้างเครือข่ายการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของไทยและนานาชาติ

27-11-2024
InterCOM

26 พฤศจิกายน 2567 / องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ขับเคลื่อนการส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และงานวิจัยสู่สาธารณะ จัดโครงการเสวนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์และการรู้วิทยาศาสตร์ของประชาชน” (International Symposium of Science Communication and Public Science Literacy) เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการและประสบการณ์ด้านวิชาการระหว่างผู้เชี่ยวชาญในระดับชาติและระดับนานาชาติด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไปสู่สาธารณะ รวมทั้งสร้างเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์จากหลากหลายหน่วยงาน พร้อมนำไปพัฒนางานวิชาการ การศึกษา ค้นคว้าวิจัยและต่อยอดงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยไปสู่มาตรฐานระดับสากล ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่

InterCOM1

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า “โครงการเสวนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์และการรู้วิทยาศาสตร์ของประชาชน” (International Symposium of Science Communication and Public Science Literacy) ในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง NSM กับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นการจัดงานเสวนาวิชาการด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ เพื่อร่วมถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนคุณค่าของวิทยาศาสตร์ไปสู่สาธารณะในวงกว้าง โดยในช่วงเช้าจะเป็นการนำเสนองานด้านวิชาการการสื่อสารวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและประเทศไทย ต่อด้วยการระดมความคิดด้านวิชาการการสื่อสารวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และนิเทศศาสตร์ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และ Thai PBS โดยการเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้งาน กิจกรรมการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 50 (The 50th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT50)) 

InterCOM2

การสื่อสารวิทยาศาสตร์นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดและส่งต่อคุณค่าของวิทยาศาสตร์สู่สังคมในประเทศชั้นนำที่มีการใช้วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ โดยการนำผลงานและการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ไปปรับใช้เพื่อการสื่อสารวิทยาศาสตร์ตามบริบทต่าง ๆ ในสังคม ซึ่ง NSM เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยขับเคลื่อนการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์และการพัฒนาด้านสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และได้พัฒนาโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งการจัดเวทีการเสวนาฯ ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดี ที่ช่วยพัฒนางานวิจัยในระดับภูมิภาคไปสู่สากล ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและวิชาชีพด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของประไทย และที่สำคัญคือการสร้างเครือข่ายของนักวิจัย ผู้สนใจและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์จำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับวงการวิทยาศาสตร์ไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศและสร้างสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ และนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยในระดับประเทศต่อไป”

InterCOM3

รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “งานเสวนาวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการรวมพลังความคิดและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เชิงวิชาการด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย เพราะการสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคม เพื่อช่วยให้ประชาชนได้นำเอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่ายเข้าร่วม โดยเฉพาะ NSM ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานระดับประเทศ   ที่ขับเคลื่อนงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด ซึ่งหวังว่างานในครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดัน  ให้เกิดการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และหลักสูตรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต”

InterCOM4

ทั้งนี้ ภายในงานเสวนาวิชาการนานาชาติฯ มีการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศและต่างประเทศมากมาย อาทิ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และอุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา พร้อมด้วย Dr.CHO Sook-Kyoung, President of Global Public Communication of Science and Technology Network บรรยายถึงความสำคัญของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในยุค AI รวมถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันของเครือข่ายด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์และบทบาทของไทยต่อการสร้างความตระหนักรู้ในวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน Dr.Finarya Legoh จาก the Indonesian Academy of Sciences Professor บรรยายถึงบทบาทของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์กับสาธารณชน ด้วยการสื่อสารที่เหมาะสมจะทำให้สาธารณชนเข้าใจและเกิดความรู้วิทยาศาสตร์และสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในการตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆได้อย่างดียิ่งขึ้น Dr. Liu, Lan-Yu, Head of the Department of Science Communication, National Ping-Tung University, Taiwan ร่วมแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสื่อสารวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของ National Ping-Tung University รวมไปถึงเสนอแนะให้พัฒนาตลาดและอุตสาหกรรมงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยพัฒนางานวงการการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในอนาคต ผศ.ดร.ปอรรัชม์ ยอดเณร รองคณบดี ด้านกิจการนิสิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับบทบาทของการสื่อสารมวลชนที่มีต่อการส่งเสริมการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ ชัวร์ก่อนแชร์ จาก อสมท. กับบทบาทของสื่อในการเชื่อมช่องว่างระหว่างวิทยาศาสตร์และสาธารณะ และ ผศ.ดร.ศศิวิมล แสวงผล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับการแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาหลักสูตรการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

InterCOM5InterCOM6InterCOM7InterCOM9InterCOM10InterCOM11InterCOM12