13 มีนาคม 2567 / ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เป็นประธานมอบรางวัลในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยา ระดับประเทศ ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อแนวคิด “Discovering local biodiversity” ผลปรากฏว่าทีมโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี คว้าชัยในโครงงานเรื่อง “ความหลากหลายและความชุกชุมของสัตว์หน้าดินในบ่อนาเกลือ 5 ประเภท บริเวณตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี” พร้อมรับโล่รางวัลและทุนการศึกษา 10,000 บาท ณ ห้องประชุม IT Auditorium พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ NSM ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เผยว่า “การประกวดแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยา ระดับประเทศ ประจำปี 2567 จัดขึ้น เพื่อเปิดเวทีให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในการสื่อสารและถ่ายทอดเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ผ่านการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างการดำรงชีวิตของเยาวชนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวในท้องถิ่น พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ โดยปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Discovering local biodiversity” ซึ่งในปีนี้มีเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 200 ทีมจากทั่วประเทศ โดยคัดเลือกมาสู่รอบชิงชนะเลิศจำนวน 40 ทีม ซึ่งผลปรากฏว่า ทีมโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้คว้าชัยในโครงงานเรื่อง “ความหลากหลายและความชุกชุมของสัตว์หน้าดินในบ่อนาเกลือ 5 ประเภท บริเวณตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี” มีสมาชิกในทีม คือ ด.ญ.เปรมญาพร เชาว์ดี ด.ญ.ปุญญพัฒน์ ทองสุข และนายสุขธนัท พรมจิต เป็นครูที่ปรึกษา ได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
“ต้องขอชื่นชมเยาวชนไทยทุกทีมที่เข้าร่วมในโครงการฯ ถือว่าทุกคนมีศักยภาพที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานผ่านโครงงานฯ โดยสามารถสร้างความตระหนักและทำให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ท้องถิ่นของตัวเอง หวังว่ากิจกรรมฯ นี้ จะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น พร้อมกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ร่วมกัน รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจต่องานด้านธรรมชาติวิทยา” ดร.กรรณิการ์ กล่าว
ด้าน ด.ญ.เปรมญาพร เชาว์ดี หรือ น้องส้มจีน หนึ่งในตัวแทนทีมชนะเลิศเผยถึงโครงงานนี้ว่า “ที่มาของโครงงานนี้เกิดจากที่เราได้มีโอกาสได้เห็นผลิตภัณฑ์เกลือในชุมชนของตัวเอง เลยเกิดความสงสัยว่าเกลือมีกระบวนผลิตอย่างไรนำไปสู่การที่เราไปลงพื้นที่สอบถามเจ้าของนาเกลือ ซึ่งในระหว่างการเดินทางเราก็ได้เห็นนกชายเลนอพยพเข้ามาในพื้นที่นาเกลือ ก็ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่านกชายเลนเข้ามาในพื้นที่เพื่ออาหารหรือไม่ จึงได้ศึกษาความหลากหลายของสัตว์ทะเลหน้าดินในบ่อนาเกลือ 5 ประเภท และหาดเลน พบว่าบ่อนาเกลือแต่ละประเภทมีความหลากหลายของสัตว์ทะเลหน้าดินแตกต่างกัน และความเค็มของบ่อนาเกลือส่งผลต่อความหลากหลายของสัตว์ทะเลหน้าดิน จึงถือได้ว่านาเกลือเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของนกชายเลน ซึ่งการจัดทำโครงงานฯ นี้ เราอยากจะช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงสถานที่เพื่อการอนุรักษ์สำหรับการชมนกชายเลนหายากที่มีความเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น นกชายเลนปากช้อน”
ผลรางวัลการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยา ประจำปี 2567 มีดังนี้
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีมโรงเรียนแม่ลาน้อยดรุณสิกข์ จ.แม่ฮ่องสอน กับ โครงงาน “การศึกษาพรรณไม้ที่เชื่อมโยงกับพิธีกรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชนเผ่าละว้า บ้านละอูบ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ญ.เกศรินทร์ เจริญเต็มเปี่ยม ด.ญ.ปุณยานันท์ เตียงศรี และนายอดิสรณ์ ทานา ครูที่ปรึกษา พร้อมรับโล่และได้รับทุนการศึกษา 7,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีมโรงเรียนสิงห์บุรี กับ โครงงาน “การสำรวจความหลากหลายของปลาน้ำจืดในลำแม่ลา จังหวัดสิงห์บุรี” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ญปัลยรัตน์ ขำศรี ด.ญ.ภาพิมล เชตพันธ์ และนางสาวสุกัญญา คุ้ยทรัพย์ ครูที่ปรึกษา พร้อมรับโล่และได้รับทุนการศึกษา 5,000 บาท
รางวัลพิเศษ 3 รางวัล ได้แก่
รางวัล Interesting presentation ได้แก่ ทีมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กับ โครงงาน “การศึกษาความหลากหลายของนกและปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกอาศัยของนกนางแอ่นอพยพในบริเวณตัวเมืองเชียงราย” สมาชิกในทีม ได้แก่ นายญาณกร พัฒนเชียร ด.ญ.นาโอมิ เงินท๊อก และนายปฏิญาณ จิตร์ลัดดา ครูที่ปรึกษา
รางวัล Practical applicability ได้แก่ ทีมโรงเรียนพิชัยรัตนาคาร จ.ระนอง กับ โครงงาน “การศึกษาความหลากชนิดและความชุกชุมของปูแสมในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดระนอง” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ช.จักรภพ รูปคม ด.ญ.ธมกร เอี่ยวสกุล และนางนภัสกร ฟองฟุ้ง ครูที่ปรึกษา
รางวัล Sustainable approach ได้แก่ ทีมโรงเรียนเพชรวิทยาคาร จ.ชัยภูมิ กับ โครงงาน “การสำรวจและรวบรวมรายชื่อพืชสมุนไพรเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในพื้นที่ตำบลบ้านเพชร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ญ.นันทิญา โคตรภูเขียว ด.ญ.ทักษอร รัตนประทุม และนางสาวจณิสตา ประหยัดทรัพย์ ครูที่ปรึกษา