“น้องโฟกัส” อายุ 12 ปี ร่วมนำเสนองานวิจัย ในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3”

“น้องโฟกัส” อายุ 12 ปี ร่วมนำเสนองานวิจัย ในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3”

02-12-2022
์NSMRIS

2 ธันวาคม 2565 / ปทุมธานี -- ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองศ์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ชื่นชม ด.ช.ศรัณย์ภัทร อุ่ยละพันธุ์ อายุเพียงแค่ 12 ปี ร่วมส่งผลงานวิจัยในหัวข้อ “ความสนใจไดโนเสาร์ในเด็กไทย” Children's interest in dinosaur museums ใน “งานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3 : ความยั่งยืนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและความรับผิดชอบต่อสังคม” (The 3rd International Seminar on Natural Science: Natural Resource Sustainability and People’s Responsibility for Society) ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมงานมากกว่า 150 คน และร่วมนำเสนอผลงาน จำนวน 53 ผลงาน ระหว่างวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2565 ณ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

์NSMRIS2

น้องโฟกัส ด.ช.ศรัณย์ภัทร อุ่ยละพันธุ์ โรงเรียนนานาชาติฮีทฟิลด์ จากจุดเริ่มต้นเด็กคนหนึ่งที่ไม่รู้จักคำว่า “ธรรมชาติวิทยา” คืออะไร? สู่การนำเสนอผลงานบนเวทีงานวิชาการนานาชาติ “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3” จากการเห็นการทำงานของนักธรรมชาติวิทยาของ อพวช. ผู้เป็นแรงบันดาลใจสู่ก้าวแรกแห่งเส้นทางของ “นักบรรพชีวิน” มาสะท้อนมุมมองของเยาวชนรุ่นเยาว์ ที่สนใจงานด้านธรรมชาติที่ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กไทยหันมาสนใจงานด้านธรรมชาติวิทยาและตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น

์NSMRIS3

น้องโฟกัส เล่าถึงที่มาที่ไปกับความสนใจในด้านบรรพชีวินวิทยาว่า “ในตอนแรกผมไม่รู้ว่า “ธรรมชาติวิทยา” คืออะไร? แต่ในปี 2559 ได้มาเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาและได้ร่วมกิจกรรม Research Show by Naturalist จึงได้เห็นการทำงานของ พี่ ๆ นักวิชาการด้านธรรมชาติวิทยาของ อพวช. ที่ได้ออกไปศึกษาสำรวจและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดความสนใจงานในด้านนี้และก็คิดว่าประเทศเราก็มีอาชีพแบบนี้ด้วยเหรอ หลังจากนั้นผมก็สนใจและเริ่มมาทำกิจกรรมกับทางพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. มาโดยตลอด จนวันหนึ่งได้ไปฟัง Research Show ของนักบรรพชีวินวิทยา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะเป็นนักบรรพชีวินวิทยาตั้งแต่นั้นมา”

์NSMRIS5

สำหรับการเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการนานาชาติฯ “น้องโฟกัส” เป็นนักธรรมชาติรุ่นเยาว์ ที่มีโอกาสได้นำเสนอผลงานของตนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับนักวิจัยในระดับนานาชาติ ถือเป็นการขับเคลื่อนสังคมให้กับวงการของนักธรรมชาติวิทยา น้องโฟกัสฯ เล่าต่อว่า “ก่อนหน้านี้ผมทำพรีเซนต์บรรพชีวินวิทยาจึงได้พูดคุยขอคำแนะนำจาก พี่ปู ชลวิทย์ ทองเจริญชัยกิจ นักวิชาการของ อพวช. และพี่ปูได้แนะนำว่าจะมีงานนี้เกิดขึ้นด้วยความสนใจผมจึงสมัครเข้ามา ซึ่งวันนี้ผมนำเสนอผลงานในหัวข้อ “ความสนใจไดโนเสาร์ในเด็กไทย” Children's interest in dinosaur museums โดยทำการศึกษาว่าเด็กไทยชอบไดโนเสาร์มากน้อยแค่ไหน? เคยมาพิพิธภัณฑ์หรือไม่? และชอบส่วนจัดแสดงไหนมากที่สุด? โอกาสนี้จึงอยากมาแลกเปลี่ยนความรู้ และข้อมูลที่ผมได้เก็บตัวอย่างมากับนักธรรมชาติวิทยาและกับนักวิจัยท่านอื่น ๆ”

์NSMRIS9

ผศ.ดร.รวินฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า  “เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่ อพวช. มีส่วนในการสร้างนักธรรมชาติวิทยารุ่นเยาว์ ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต อพวช. หวังว่าเวทีนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่สร้างเครือข่าย ผลักดัน ส่งเสริมงานด้านธรรมชาติวิทยาโดยเฉพาะประเด็นสำคัญของประเทศที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศวิทยา ซึ่งนำไปสู่การตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและก่อให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์อันเป็นการรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป”