“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” คือ ประโยคหนึ่งจากอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
จินตนาการเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนศาสตร์ต่างๆ ให้มีความกลมกล่อมขึ้น เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ หากเสริมเติมแต่งจินตนาการมาสร้างเป็นเรื่องราว โดยคงไว้ซึ่งทฤษฎีและความสมเหตุสมผลย่อมช่วยให้ผู้อ่านได้พัฒนาความคิดในความเป็นไปได้ของสรรพสิ่งในนิยายขึ้น นิยายวิทยาศาสตร์จึงเป็นจุดเชื่อมต่อของวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และจินตนาการ พาไปสู่นวัตกรรมสุดล้ำมากมาย มีทั้งความสนุกสนาน ความตื่นเต้นท้าทาย ขณะเดียวกัน ยังมีการอิงทฤษฎีจริงๆ ของโลกวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในอนาคต
นิทรรศการชุดนี้ มีความน่าสนใจมากมาย ทั้งส่วนทฤษฎีและปฏิบัติ เริ่มจากการถ่ายทอดเรื่องราวหลากหลายยุคสมัย ตั้งแต่ยุคโบราณ ยุคบุกเบิก ยุคก้าวหน้า ยุคเฟื่องฟู โดยนิยายวิทยาศาสตร์นั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณ ย้อนกลับไปนับพันปี ยอดกวีทุกอารยธรรมทั่วโลกต่างบอกเล่าเรื่องราวการผจญภัยอันโลดโผนผ่านบทกวีที่เกิดจากจินตนาการ และความน่าเชื่อถือผ่านคำอธิบาย หรือบริบทแวดล้อมที่สมเหตุสมผลสร้างความเป็นไปได้ให้คนอ่านตื่นเต้นเร้าใจและน่าติดตาม
แต่หากพูดถึงผู้บุกเบิกนิยายวิทยาศาสตร์คนสำคัญ คงหนีไม่พ้น เอช. จี. เวลส์ (H.G.Wells) ผู้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น สงครามระหว่างดวงดาว (War of the Worlds) และ ฌูล กาบรีแยล แวร์น (Jules Gabriel Verne) หรือที่รู้จักกันว่า จูลส์ เวิร์น นักเขียนชาวฝรั่งเศส เช่น นิยายใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ (20,000 Leagues under the Sea) ขณะเดียวกัน ฝั่งไทยเองก็มีนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิกเช่นกัน อย่างคุณจันตรี ศิริบุญรอด ผู้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ‘บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย’ ฝากผลงานด้านวิทยาศาสตร์ไว้มากกว่า 300 ผลงาน อย่างเรื่อง สิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในโลก
และไม่ว่า นิยายวิทยาศาสตร์ จะดำเนินเรื่องด้วยพล็อตที่แตกต่างกันมากเพียงใด แต่ใจความสำคัญของนิยายวิทยาศาสตร์นั้น มักถูกพูดถึงผ่าน 4 หัวข้อ ได้แก่
SPACE – จินตนาการแรกๆ ที่พบเห็นได้ในนิยายวิทยาศาสตร์เกือบทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องราวของยานอวกาศสุดล้ำที่สำรวจจักรวาลอันไร้ขอบเขต การพบกันมนุษย์ต่างดาว UFO และสิ่งประดิษฐ์เหนือจินตนาการ เช่น เรื่องของการวาร์ป รูหนอนหรือการเดินทางข้ามมิติเวลา การเดินทางด้วยความเร็วแสง รวมถึงทฤษฎีต่างๆ ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ในอดีต อย่างการกำเนิดของเอกภพหลุมดำ
TIME - นิยายหรือภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่มักนำ ‘เวลา’ เข้ามาเป็นส่วนหลักในการเดินเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเวลา ไทม์แมชชีน การบิดเบือนเวลา มิติคู่ขนาน อาชญากรรมข้ามเวลา การเดินทางกลับไปเปลี่ยนแปลงอดีต การท่องเวลาผ่านรูหนอน สิ่งเหล่านี้ ช่วยสะท้อนและทำให้ระลึกถึงความสัมพันธ์ของเรื่องราวกับการเปลี่ยนแปลงของเวลานั่นเอง
MACHINE - เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องยนต์กลไก เป็นอีกสิ่งที่พบในภาพยนตร์ วิทยาศาสตร์อยู่เสมอ มีการสร้างอุปกรณ์ เช่น หุ่นยนต์ (Robot) เครื่องจักรสมองกล (Machine Intelligence) ตลอดจน สมองกลอัจฉริยะ (Artificial Intelligence) เพื่อช่วยการทำงานให้เห็นถึงความเจริญกาวหน้าของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์
MONSTER – ตัวประหลาดที่แตกต่างจากมนุษย์ผิดปกติไปจนถึง สิ่งที่รุกรานทำลายโลก ทำร้ายมนุษย์ปกติ หรือ เกิดความผิดปกติจากมนุษย์ทั่วไป เช่น การกลายพันธุ์ การปลูกถ่ายอวัยวะ ตัดแต่งอวัยวะ (Eugenics) การตัดต่อพันธุกรรม การโคลนนิ่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคีย์หลักของเรื่อง เราก็สามารถเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผ่านการเขียนได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น นิยายแบบ HARD SCI-FI เน้นเข้มข้นต่อหลักการและเชิงทฤษฎีวิทยาศาสตร์ มีหลักวิทยาศาตร์รองรับ เน้นแนวคิด การตั้งข้อสังเกต นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ เช่น A Space Odyssey , The Martian, Interstellar ส่วนนิยายแบบ Soft SCI-FI มีความกึ่งแฟนตาซี เน้นความหลากหลายของอารมณ์เข้ามาผสม มีความยืดหยุ่นของบรรยากาศ เนื้อเรื่อง และตัวละคร แต่ยังไม่ลืมที่จะคงทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เรื่องราวมีความสนุก น่าติดตาม และนิยมในคนทั่วไปมากกว่า Hard SCI-FI เช่น The Metrix, Inception, Star Trek
ส่วน นิยายแบบ Fantasy จะไม่คำนึงถึงทฤษฎี หรือความถูกต้องมากนัก สามารถแต่งขึ้นตามจินตนาการอันสร้างสรรค์ของนักเขียนได้อย่างเต็มที่ แต่อาจมีความสมเหตุสมผลในบริบทตามท้องเรื่องอยู่บ้าง โดยสามารถแสดงวิสัยทัศน์ ไอเดียแปลกใหม่ เพื่อต่อยอดสู่แรงบันดาลใจ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น Back to the Future, Pacific Rim
ไม่เพียงเท่านั้น เรายังค้นพบว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เคยเขียนไว้ในนิยายวิทยาศาสตร์ได้นำมาต่อยอด ประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงแล้ว อาทิ บัตรเครดิตที่เราใช้อยู่ในทุกวันนี้ ก็มาจาก Looking Backward, 2000 To 1887 ถูกปรากฏอยู่ในฉากหนึ่งที่ประชาชนได้รับสวัสดิการจากรัฐบาล ด้วยการรับบัตรเครดิต เพื่อนำมาจับจ่ายสินค้าและบริการต่างๆ
แว่น VR (Virtual Reality Headset) ก็มาจาก Total Recall, Lawnmower Man สิ่งประดิษฐ์ที่นำผู้ใช้งานเข้าสู่โลกเสมือน ผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จำลองสภาพแวดล้อม ผ่านการรับรู้ การมองเห็น กลิ่น และ สัมผัส ตลอดจน Metaverse ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ ก็เป็นคำที่ใช้พูดครั้งแรกในปีค.ศ 1992 จากนิยาย Snow Crash โดย Nail Stephenson
สำหรับ เมตาเวิร์ส (Metaverse) โลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างกราฟิกมาผสมผสานกันเป็นพื้นที่ใช้งาน เกิดประสบการณ์คล้ายกับการใช้ชีวิตอยู่ในโลกความเป็นจริง ใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) หลายวงการทั่วโลกเริ่มนำ Metaverse มาปรับใช้ในด้านการแพทย์ การศึกษา งานพิพิธภัณฑ์ โซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook ไปจนถึง โลก Cryptocurrencies
“เห็นได้ชัดว่า ปัจจุบัน เรากำลังก้าวสู่ความบันเทิงในโลกดิจิทัลแห่งอนาคต โดยปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งที่เราเห็นกันอยู่ตอนนี้ ล้วนถูกพัฒนามาจาก รากเหง้าของจินตนาการและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่มีในอดีต