เพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ กับการครบรอบ 150 ปีแห่งตารางธาตุสากล ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 จึงได้จัดนิทรรศการ ‘มหัศจรรย์แห่งเมืองธาตุ’ โดยนำเสนอเรื่องของ ‘ธาตุ’ แบบจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะและคุณสมบัติที่โดดเด่นของธาตุนั้นๆ พร้อมจัด Landmark ตารางธาตุขนาดยักษ์ ตลอดจนบรรยากาศเมืองแห่งธาตุและการจัดแสดงประโยชน์ของธาตุในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้เข้าชมนิทรรศการเข้าใจได้ว่า ธาตุคือสิ่งที่อยู่ล้อมรอบตัวของเรา โดยสอดแทรกเนื้อหา ความรู้พื้นฐานของธาตุอย่างแนบเนียนเกี่ยวกับวิวัฒนาการของตารางธาตุใน 150 ปีที่ผ่านมา อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้เรื่องตารางธาตุเป็นไปอย่างสมบูรณ์
ตารางธาตุ ได้ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1869 โดยนักเคมีชาวรัสเซีย ชื่อ Dmitri Mendeleev ต่อที่ประชุมของสมาคมเคมีแห่งรัสเซีย ภายใต้ชื่อเรื่องที่บรรยายว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติของธาตุกับมวลเชิงอะตอม” นับเป็นการจุดประกายแรกของตารางธาตุอย่างเป็นทางการ การเข้าใจเรื่องของตารางธาตุจะช่วยให้เข้าใจวิธีการศึกษาสมบัติทางเคมีและกายภาพของธาตุต่างๆ ได้เป็นอย่างดี สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลในการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทุกแขนง
ล่าสุดในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีการคิดค้นธาตุใหม่ขึ้นถึง 4 ธาตุ ประกอบด้วยธาตุเลขอะตอม 113, 115, 117 และ 118 ซึ่งได้ถูกประกาศในตารางธาตุสากลอย่างเป็นทางการแล้ว โดยธาตุเลขอะตอม 113 เรียกว่า นิฮงเนียม (Nihonium: Nh) ถูกค้นพบโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ริเคน (RIKEN) ของญี่ปุ่น เมื่อเดือนกันยายน 2547 ธาตุเลขอะตอม 115 เรียกว่า มอสโคเวียม (Moscovium: Mc) ธาตุเลขอะตอม 117 เรียกว่า เทนเนสซีน (Tennessine: Ts) ค้นพบโดยสถาบันร่วมวิจัยนิวเคลียร์ของรัสเซีย (JIRN) ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนส์ลิเวอร์มอร์ (LLNL) และห้องปฏิบัติการโอ๊กริดจ์ (ORNL) ของสหรัฐฯ และธาตุเลขอะตอม 118 เรียกว่า ออแกเนสซัน (Oganesson: Og) ค้นพบโดย JIRN และ LLNL เมื่อเดือนตุลาคม 2549 และความคืบหน้าล่าสุดของการสังเคราะห์ธาตุที่ 119 ของ นักวิทยาศาสตร์ในประเทศเยอรมนี ซึ่งกำลังพยายามหลอมอะตอมของธาตุที่มีน้ำหนักเบา เพื่อสร้างอะตอมที่มีขนาดใหญ่ที่มีโปรตรอนในนิวเคลียส 119 ตัว ทั้งหมดถูกจัดแสดงข้อมูลภายในงานนี้ด้วย
ภายในนิทรรศการชุดนี้ ยังจำแนกธาตุต่างๆ โดยแบ่งเป็นเมืองตามลักษณะเด่น ถึง 10 เมือง
เมืองโบราณ ปฐมบทแห่งธาตุบนโลกและจักรวาล ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุต่างๆในยุคโบราณ ธาตุที่ใช้ทางศาสนา ธาตุพื้นฐานของร่างกายมนุษย์ การเล่นแร่แปรธาตุ
เมืองแห่งเปลือกโลกและท้องทะเล โชว์แบบจำลองสถาปัตยกรรมจากหินปูน เรียนรู้ที่มาของโลกผ่าน Interactive
เมืองแห่งแสง ธาตุที่ให้กำเนิดแสง และนวัตกรรมที่เกิดจากการใช้ธาตุอย่างฮีเลียม นีออน อาร์กอน
เมืองแห่งวงจรไฟฟ้า พบกับธาตุโลหะ ธาตุกึ่งโลหะ สื่อนำและฉนวนต่างๆ พร้อมตัวอย่างผลงานที่เกิดจากการนำไปประยุกต์ใช้เป็นสิ่งของในชีวิตประจำวัน
เมืองแห่งอนาคต จัดแสดงความรู้เกี่ยวกับการกำเนิดธาตุใหม่ ธาตุที่ถูกนำไปจินตนาการใช้กับภาพยนตร์เรื่องซุปเปอร์ฮีโร่เรื่องดัง เช่น ซุปเปอร์แมน, กัปตันอเมริกา, X-men
เมืองของฉัน นอกจากธาตุที่เราคุ้นเคยในแบบฉบับวัตถุสิ่งของแล้ว พืชพันธุ์ธัญญาหารของเราก็ยังประกอบไปด้วยธาตุมากมาย ซึ่งหากเราเลือกใช้ได้อย่างถูกต้องก็จะทำให้ได้ผลิตผลทางการเกษตรที่ดีงาม
เมืองแห่งความแวววาว เป็นธาตุที่เกิดจากอิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่โดยอิสระ และมีปฏิกิริยาต่อแสง ทำให้เกิดการสะท้อน ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในด้านพลังงานและการสื่อสาร นับว่าเป็นธาตุที่หายากและมีมูลค่าสูงในโลกด้วย
เมืองแห่งเกลือ แสดงความรู้เกี่ยวกับ ‘เกลือ’ ในประเภทต่างๆ ที่มีหลากหลายรสชาติทั้งเค็ม หวาน เปรี้ยว ขม และรสอูมามิ ซึ่งแต่ละประเภทก็ถูกใช้ในกิจกรรมที่ต่างกัน
เมืองแห่งระเบิด ธาตุที่มีความร้อนแรงแต่ขับเคลื่อนโลกในหลายอุตสาหกรรมทั้งด้านพลังงาน การแพทย์ ยนตรกรรม การสื่อสาร
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมอีกมากมายให้ผู้เข้าร่วมชมงานได้รับความรู้ และสัมผัสประสบการณ์ผ่านการทดลองต่างๆ เช่น มหัศจรรย์การ์ดเปลี่ยนสี, การทดลองการเผาสารประกอบเพื่อดูความแตกต่างสี, บิงโกตารางธาตุ, Calcium in Water เป็นต้น
ถือเป็นการจัดงานเกี่ยวกับตารางธาตุที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของประเทศไทย พร้อมจุดประกายการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป สอดรับแนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรมอย่างยั่งยืน”
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 จัดขึ้นจนถึงวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ณ อาคาร 6-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดให้เข้าชมงาน ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (@thailandnstfair) หรือสอบถามข้อมูลที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร. 0 2577 9960
-------------------------------------------------------------------------------
สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ติดต่อ กองประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาธุรกิจและการตลาด องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
คุณพัชร์ชิสา (ปัญญ์) 095-624-6659 / คุณฐาปนี (เก๋ง) 085-772-9955
ประชาสัมพันธ์งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562
คุณสุวรรณา (นา) 081-565-5540 / คุณพัสรา (ต่าย) 087-497-8183