กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ผู้สนับสนุนหลักของโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” จับมือพันธมิตรจัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนครั้งที่ 7 (DOW-CST AWARD 2020-2121) เพื่อส่งเสริมให้ครูและเยาวชนนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาบูรณาการ ร่วมกันคิดค้นโครงงานการทดลองเคมีย่อส่วน ภายใต้ธีม ‘การทดลองวิทยาศาสตร์ที่ปลอดภัยและยั่งยืน’ เพื่อชิงทุนการศึกษาและโล่เกียรติยศ
DOW-CST AWARD 2020-2121 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 ภายใต้โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ซึ่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 โดยความร่วมมือของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โดยเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนทั่วประเทศร่วมประชันไอเดียการปฎิบัติการเคมีแบบย่อส่วนที่ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ชุดการทดลองขนาดเล็กและวัสดุในท้องถิ่นเข้ากับการทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งปีนี้ได้จัดการแข่งขัน ณ ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 อย่างเคร่งครัด
เพื่อจำกัดจำนวนคนเข้าร่วมงาน ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในปีนี้จึงได้มีการคัดเลือก 27 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบที่ 2 และจัดการประกวดแบบออนไลน์อีกครั้งเพื่อให้เหลือทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศรอบสุดท้ายทั้งสิ้นเพียง 11 ทีม แบ่งเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 5 ทีม และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 6 ทีม โดยทีมที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมได้รับทุนการศึกษา 40,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ ส่วนรางวัลดีเด่นอันดับ 1 และรางวัลดีเด่นอันดับ 2 ได้รับโล่เกียรติยศและทุนการศึกษา 20,000 และ 10,000 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ คุณครูที่ปรึกษาของทีมชนะเลิศจะเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศ และครูที่ปรึกษาของทั้ง 27 ทีม ยังได้รับรางวัลครูต้นแบบและได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference หรือ PACCON 2022 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2565 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ผู้ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ ได้แก่ โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ.ปราจีนบุรี จาก ‘โครงงาน Zero Waste & Natural Reaction’ รางวัลดีเด่นอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร จ. อุบลราชธานี จาก ‘โครงงานทรัพย์สู่ดิน สินจากน้ำ’ และรางวัลดีเด่นอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา จากโครงงาน ‘การกำจัดโลหะด้วยเทคนิคการกรอง’
ส่วนผู้ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ. นครปฐม จาก ‘โครงงานการติดตามปฏิกิริยากิ่งก่าด้วยสเปกโทรสโกปี’ รางวัลดีเด่นอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ.ปราจีนบุรี จาก ‘โครงงานปฏิกิริยาของกรดและเบส’ และรางวัลดีเด่นอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพฯ จาก ‘โครงงานชุดอุปกรณ์ย่อส่วนจากเซลล์กัลวานิก’ และโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี จาก ‘โครงงานชุดตรวจวัดฐานกระดาษสำหรับวิเคราะห์น้ำตาลในเครื่องดื่ม’
นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow เป็นบริษัทวัสดุศาสตร์ชั้นนำของโลกที่เชื่อมั่นว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะนำมาซึ่งทางออกในการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของโลก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน หรือ การแก้ไขปัญหาปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุของโลกร้อน และการแก้ไขปัญหาขยะ Dow จึงให้ความสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาโดยเฉพาะด้าน STEM เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักพัฒนานวัตกรรมในอนาคต ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน”
ศ.ดร.สุภา หารหนองบัว นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “ปี 2565 เป็นปีสากลของวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (International Year of Basic Sciences for Sustainable Development 2022) ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการส่งเสริมทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กและเยาวชนไทย พร้อมเดินหน้าจุดประกายให้นักเรียนมีความสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น สร้างแรงบันดาลใจและนำองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่ได้จากในห้องเรียน มาพัฒนาเป็นผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ ด้วยการทดลองแบบย่อส่วนที่ปลอดภัยและยั่งยืน เพื่อยกระดับความรู้และความสามารถทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศ”
ดร.โชติมา หนูพริก ผู้อำนวยการ กลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สพฐ.) กล่าวว่า “การประกวดในครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีและน่าชื่นชมของการก้าวสู่การพัฒนาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมุ่งพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน อีกทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารและจัดการศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะส่งผลทำให้นักเรียนมีความสามารถในการเรียนรู้ รักที่จะเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย มีความสนุกกับการเรียนรู้ และมีโอกาสได้เรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์ต่อไป”
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยเข้าถึงและเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยนำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์มาบูรณาการและสร้างสรรค์เป็นผลงานในการทดลองวิทยาศาสตร์แบบย่อส่วนที่ปลอดภัยและยั่งยืน ด้วยเทคนิคและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของงานวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ และด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างระบบนิเวศน์ที่ดีและยั่งยืนให้กับโลก”
ศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ผู้อำนวยการโครงการห้องเรียนเคมีดาว กล่าวว่า “การประกวดนี้เป็นเวทีให้คุณครูและนักเรียนได้นำความรู้ด้านเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในการออกแบบการทดลอง โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ใกล้ตัวและหาได้ง่ายในท้องถิ่นตนเอง เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ทดแทนการทดลองแบบเดิมที่ใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่และสารเคมีปริมาณมาก ซึ่งมักทำให้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การทดลองเคมีแบบย่อส่วนมีต้นทุนต่ำ ค่าใช้จ่ายน้อย ใช้งานสะดวก ทำซ้ำได้หลายครั้ง เสร็จรวดเร็ว ไม่มีของเสีย และมีความปลอดภัยสูง สามารถทำการทดลองที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการมาตรฐานซึ่งต้องลงทุนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาลำบากในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เรายังสามารถสอนการทดลองเคมีแบบย่อส่วนผ่านระบบออนไลน์ ทำให้นักเรียนยังคงทำการทดลองไปพร้อมกันอย่างปลอดภัย”
โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” หรือ Dow Chemistry Classroom ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาเคมีด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนที่มีความปลอดภัยสูง ใช้ปริมาณสารเคมีน้อยกว่าการทดลองแบบปกติถึง 2,000 เท่า ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณของเสีย นักเรียนได้มีโอกาสลงมือทำการทดลองด้วยตนเอง และลดความเลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาของเด็กทั่วประเทศ ปัจจุบันมีคุณครูที่เข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 คน จาก 1,055 โรงเรียน โดยนำชุดมาตรฐานการทดลองแบบย่อส่วนไปใช้สอนนักเรียนทั่วประเทศแล้วกว่า 300,000 คน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการขยายผลจากประเทศไทยไปยังคุณครูในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อถ่ายทอดเทคนิคการเรียนการสอนรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่องอันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคตของทั้งประเทศไทยและอาเซียนต่อไป