องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด จัดการอบรมพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ในโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ประจำปี 2565 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป พร้อมสร้างแรงบันดาลใจด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านจินตนาการถ่ายทอดผ่านงานเขียนอันจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมฐานความรู้ให้กับประเทศ
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “อพวช. นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ให้บริการด้านพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีการจัดกิจกรรมและการประกวดแข่งขันต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนมีความรักและสนใจในวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น โดยล่าสุด อพวช. ได้ร่วมกับภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน จัดการอบรมพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ประจำปี 2565 ที่เล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยการนำเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์มาถ่ายทอดเป็นวรรณกรรมที่เรียกว่านิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีฐานการคิดเป็นแบบวิทยาศาสตร์ เพราะนอกเหนือจากความบันเทิงแล้ว เรื่องราวเหล่านั้นยังสร้างแรงบันดาลใจในการใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจต่าง ๆ รวมทั้งอาจสร้างให้เกิดเป็นนวัตกรรมได้อีกด้วย นอกจากนี้นิยายวิทยาศาสตร์ยังช่วยสร้างทัศนคติและเจตคติด้านวิทยาศาสตร์ให้กับผู้อ่าน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมวิทยาศาสตร์หรือสังคมฐานความรู้และสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี”
สำหรับการอบรมพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ในโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ประจำปี 2565 ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้บริหารจากหน่วยงานร่วมจัด ได้แก่ ศ.ดร.ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์ ประธานโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาสาสตร์ อ.สกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.อพวช. เป็นประธานเปิดงาน โดยการอบรมฯ จัดขึ้น ในระหว่างวันที่ 12 – 13 มีนาคม 2565 ณ ห้องแสงเดือน ชั้น 2 อาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. คลองห้า ปทุมธานี นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการบรรยายพิเศษ อาทิ เรื่องการสื่อสารวิทยาศาสตร์คืออะไร โดย คุณชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา และการบรรยายเรื่อง Science Fiction โดย รศ.ดร.ชัยรัตน์ คุประตกุล ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมอบรมพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก โดยหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะทำให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปเกิดแรงบันดาลใจพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ และหันมาสนใจเรื่องราววิทยาศาสตร์ พร้อมนำไปสร้างผลงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในรูปแบบงานเขียนมากขึ้น ถือเป็นบันไดสำคัญขั้นหนึ่งในการร่วมสร้างสังคมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป