อว. ขานรับการเปิดประเทศด้วยการจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564” บรรยากาศวันแรกคึกคัก มีครอบครัว ครูอาจารย์พาเด็กๆ เยาวชนเข้าชมงาน ท่ามกลางมาตรการตรวจคัดกรองโควิด-19 อย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่ เด็กๆ แห่ชมโครงกระดูกวาฬบรูด้า 11 เมตร ที่มาจัดแสดงที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า งาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564” ถือเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี ที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดาครูอาจารย์พ่อแม่ผู้ปกครองมาโดยตลอด เพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนและสังคมไทย
โดยปีนี้งานมหกรรมวิทย์ฯ 64 จัดขึ้นในธีมของ “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Art – Science – Innovation and Creative Economy)” ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการหลักที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านวิทย์และศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการโครงร่างสร้างเรื่อง (Skeleton) ที่นำเสนอความสวยงามของโครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ และให้ความรู้ด้านความสำคัญของกระดูกต่อร่างกายที่หลายๆ คนอาจมองข้าม โดยมีไฮไลท์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากเด็กๆ คือโครงกระดูกของ “แม่จ๊ะเอ๋” วาฬบรูด้าที่เคยอาศัยอยู่ในน่านน้ำไทยที่เป็นที่คุ้นเคยกับนักดูวาฬทั้งหลายที่มีขนาดใหญ่ถึง 11 เมตร ภายหลังทีมวิจัยได้ศึกษาและทำชิ้นส่วนกระดูกกว่า 120 ชิ้นขึ้นมาประกอบเป็นโครงกระดูกที่สมบูรณ์ที่สุดในไทย และนำมาจัดแสดงครั้งแรกที่งานนี้ นอกจากวาฬบรูด้าแล้ว ยังมีโครงร่างอาจารย์ใหญ่จากโรงพยาบาลศิริราช และโครงกระดูกสัตว์อื่นๆ ที่หาดูได้ยาก อย่างกระดูกคอยีราฟที่ยาวที่สุด ชิ้นส่วนกระดูกต้นขาไดโนเสาร์ซอโรพอดที่พบในประเทศไทย
ต่อมาคือนิทรรศการโลกดิจิทัลไร้พรมแดนกับเทคโนโลยี 5G ให้ผู้ชมได้เรียนรู้ถึงข้อดีข้อเสียเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวด้านดาราศาสตร์ เรามีนิทรรศการภารกิจข้ามดวงดาว (Space Odyssey) ที่พาทุกคนท่องกาแลคซี่ผ่านเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาการอวกาศ เตรียมตัวให้พร้อมกับการใช้ชีวิตเหนือพื้นโลก พร้อมออกเดินทางสู่ Deep space เพื่อค้นหาดาวดวงใหม่ที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิต ในรูปแบบ Immersive Theatre อันน่าตื่นตาตื่นใจ หรือ เรียนรู้พื้นฐานของการส่งยานอวกาศขึ้นสู่อวกาศ หลักการทางฟิสิกส์พื้นฐาน รวมทั้งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ พร้อมทั้งการชมภาพยนตร์ในท้องฟ้าจำลองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร โดยนำเสนอเรื่องการส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจอวกาศในขั้นตอนต่าง ๆ ผ่านระบบฉายภาพแบบ Full dome กับนิทรรศการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
และเพื่อเฉลิมฉลองปีสากลแห่งพืชผักและผลไม้ นิทรรศการดินแดนผักและผลไม้ (Fruits and Veggies Land) นำเสนอเรื่องราว คุณค่าของพืชผักและผลไม้ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปสอนเด็กๆ ให้กินผักและผลไม้มากขึ้น ผ่านกิจกรรมสนุกๆ ในงาน และนิทรรศการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่ชวนเด็กๆ มาเรียนรู้ “มหัศจรรย์พลังแห่งผักผลไม้ 5 สี” “เกษตรอัจฉริยะ” เทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้ผัก ผลไม้ส่งต่อถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพ
นายสุวรงค์ ทิ้งท้ายว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 งานมหกรรมวิทย์ฯ ปีนี้ จึงเปิดให้เข้าชมงานได้ 2 ช่องทาง ช่องทางแรกคือการเข้าชมงานที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 9 -19 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. และช่องทางที่สอง คือเข้าชมนิทรรศการเสมือนจริง 360° Virtual Exhibition ผ่านเว็บไซต์ thailandnstfair.com พร้อมย้ำว่าภายในงาน ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งการลดช่องว่าง (Social distancing), การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในงาน, การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างานต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส, ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้เข้าชมในแต่ละวัน โดยประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน จึงขอเชิญชวนน้องๆ เยาวชน วัยรุ่น พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์และผู้ที่สนใจไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด ก็สามารถร่วมชมงานนี้ได้ เพราะไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมที่สนุกแต่ยังได้แรงบันดาลใจ ยกระดับความรู้และสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้น
เปิดโลกแห่งการเรียนรู้วิทย์ยุคใหม่ใน 2 ช่องทาง