วันนี้ (๑๕ ต.ค. ๖๒) เวลา ๑๗.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี นายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสุชิต โต๊ะวิเศษกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลแรงงานกลาง ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จังหวัดธัญบุรี พลตรี ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๑๑ พลตำรวจโท อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธณภาค ๑ รองศาสตราจารย์ สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เฝ้าฯ รับเสด็จ
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธุปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล รองศาสตราจารย์ สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานกรรมการองค์การองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรและหนังสือที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นางกรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรและหนังสือที่ระลึก แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กราบบังคลทูลถวายรายงานความเป็นมาของการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธีทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่ออาคาร “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ที่เดิม ทรงหลั่งทักษิโณทก
จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนการจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน ๒๕ ราย ตามลำดับ ต่อมานายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นศิลาทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในแผ่นศิลา จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์
เสด็จออกจากพลับพลาพิธี เข้าภายในอาคาร “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” เสด็จขึ้นชั้น ๒ (โดยบันไดเลื่อน) ทอดพระเนตรนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย ๓ ส่วนหลัก ได้แก่ ๑. OUR HOME นำเสนอเรื่องราวของการก่อกำเนิดจักรวาล ระบบสุริยะและโลก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต จนเกิดสายพันธุ์มนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกมาจนถึงปัจจุบัน ๒. OUR LIFE นำเสนอเกี่ยวกับสภาพสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์ภายในชีวนิเวศต่าง ๆ ๗ แห่งทั่วโลก รวมทั้งเขตภูมินิเวศของประเทศไทย ๓. OUR KING นำเสนอหลักคิด หลักการและวิธีการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ทรงใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งพระปรีชาสามารถและพระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและในประชาคมโลก
สมควรแก่เวลา เสด็จ ฯ ไปยังห้องประทับรับรองทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก ประทับพักพระราชอิริยาบถ ตามพระราชอัธยาศัย เสด็จออกจากห้องประทับรับรองไปยังห้องฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และคณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จำนวน ๒ ชุด เสด็จออกจากห้องฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ไปยังชั้น ๑ (โดยบันไดเลื่อน) เสด็จออกจากอาคาร “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
“พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Rama 9 Museum” เป็นโครงการที่ริเริ่มเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ อนุมัติงบประมาณ ๑,๘๙๐ ล้านบาท เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ให้ดำเนินการจัดสร้าง ภายใต้หัวข้อหลักในการนำเสนอ คือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักการคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงนำไปแก้ปัญหา พระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย
“พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ติดอันดับ ๑ ใน ๓ ของโลก ด้วยมีเนื้อที่กว่า ๔๒ ไร่ นําเสนอสาระที่เป็นหลักคิด หลักการ หลักปฏิบัติ ในเชิงกระบวนการที่เป็นสากล สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกระบบนิเวศ โดยใช้การแก้ปัญหาตามสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกันและการอยู่อยางยั่งยืนกับธรรมชาติ อันจะนําไปสู่การมีจิตสํานึกในการอนุรักษ์ระบบนิเวศปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน ตามแนวคิดและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานไว้
“พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีอยู่เดิมขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ๐๒ ๕๗๗ ๙๙๙๙ ต่อ ๒๑๒๒