เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2566 ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมแสดงความยินดี และเป็นประธานมอบรางวัลในการแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมของเล่นวิทยาศาสตร์สู่ศตวรรษที่ 21: บอกเล่าสุภาษิตด้วย Automata Toys รอบชิงชนะเลิศ ณ เวทีกลาง ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 อาคาร 10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร รองผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “NSM จัดการแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมของเล่นวิทยาศาสตร์สู่ศตวรรษที่ 21: บอกเล่าสุภาษิตด้วย Automata Toys ขึ้น เพื่อเปิดเวทีให้นักออกแบบและผู้ผลิตของเล่นทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ ได้แสดงแนวคิดในการออกแบบและผลิตของเล่นวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่มีประสิทธิภาพและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในรูปแบบของเล่น Automata Toys โดยเน้นให้ผู้เล่นได้พัฒนาทักษะการประดิษฐ์และใช้ความคิดสร้างสรรค์การประดิษฐ์ของเล่นด้วยกลไกอย่างง่าย และทําให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าไว้ด้วยกัน ทําให้ผู้เล่นได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนาน ผ่านการบอกเล่าด้วยสุภาษิตไทย ซึ่งในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 120 ผลงาน โดยได้คัดเลือกผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ ทั้งหมด 25 ผลงาน โดยแบ่งเป็นประเภทเยาวชน จำนวน 13 ผลงาน และประเภทอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป จำนวน 12 ผลงาน มาร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งถือเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปีนี้อีกด้วย”
การแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมของเล่นวิทยาศาสตร์สู่ศตวรรษที่ 21: บอกเล่าสุภาษิตด้วย Automata Toys ได้รับเกียรติการตัดสินจากคณะกรรมการทั้งหมด 4 ท่าน ได้แก่ ดร.พีรนุช กัณหดิลก ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ อพวช., นางสาววิลาสินี ไตรยราช ผู้อำนวยการกองวิจัยและบริการวิชาการ อพวช., นายเปรมชัย บุญเรือง นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ อพวช. และคุณประเวศน์ หงส์ทอง ผู้จัดการแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด ร่วมตัดสินการแข่งขัน โดยผลปรากฏว่า
ผลรางวัลประเภทเยาวชน
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “งูกินหาง” เจ้าของผลงาน โดย นายรัตนะโชติ แดงภู่
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” เจ้าของผลงานโดย นางสาวดวงกมล ไทยทวี , นางสาวณัฐวดี ภูเขม่า
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “จากศัตรูสู่ครูสอนว่ายน้ำ” เจ้าของผลงานโดย นางสาวชมบุญ รุ้งกำธรธรรม
รางวัลชมเชย ได้แก่ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” เจ้าของผลงานโดย นาย ณัฐดนัย สิริโชติกุล
รางวัลชมเชย ได้แก่ “พานรินทร์ชิงสุวรรณ” เจ้าของผลงานโดย นายกันตภณ มหชัยกุล, นายเอกธนัท ทองดี และนายยศพนธ์ มโนวรกุล
รางวัลประเภทอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “สอนจระเข้ว่ายน้ำ” เจ้าของผลงานโดย นายกิจการ ช่วยชูวงศ์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “กระต่ายตื่นตู้ม” เจ้าของผลงานโดย นายกฤษณะ เรียงสันเทียะ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “น้ำลดตอผุด” เจ้าของผลงานโดย นายฤทธิพล เสาร์วิบูลย์
รางวัลชมเชย ได้แก่ “เข็นครกขึ้นภูเขาแบบวนลูป” เจ้าของผลงานโดย นที ซ่อนรักษ์
รางวัลชมเชย ได้แก่ “แม่กลอง (Mae-Klong)” เจ้าของผลงานโดย นายธงกช ฉัตรภัทรไชย และนางสาวนพธาร หวังไพสิฐ
และรางวัลพิเศษ 2 รางวัล
รางวัลขวัญใจมหาชน ได้แก่ เข็นครกขึ้นภูเขาแบบวนลูป เจ้าของผลงานโดย นายนที ซ่อนรักษ์
รางวัลสนุก อึด ถึก ทน ได้แก่ จากศัตรูสู่ครูสอนว่ายน้ำ เจ้าของผลงานโดย นางสาวชมบุญ รุ้งกำธรธรรม
ดร.ชนินทรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน ต้องขอชื่นชมความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบที่ทำให้ของเล่นวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและสนุกสนาน ซึ่งเราหวังว่ากิจกรรมนี้ จะผลิตนวัตกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาต่อยอด หรือ สร้างธุรกิจใหม่ได้ในอนาคต โดยกิจกรรมนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ สังคม และการพาณิชย์ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต”