นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา คว้ารางวัลที่ 3 สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ด้านพืชวิทยา และรางวัลสเปเชียลอวอร์ด จาก Sigma Xi

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา คว้ารางวัลที่ 3 สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ด้านพืชวิทยา และรางวัลสเปเชียลอวอร์ด จาก Sigma Xi

09-12-2021
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา คว้ารางวัลที่ 3 สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ด้านพืชวิทยา และรางวัลสเปเชียลอวอร์ด จาก Sigma Xi

เมืองฟินิกส์ สหรัฐอเมริกา / วันที่ 17 พฤษภาคม 2562 -- นายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ และนางสาวสุทธิดา เอี่ยมสอาด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา คว้ารางวัลที่ 3 สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ด้านพืชวิทยา และรางวัลสเปเชียลอวอร์ด จาก Sigma Xi ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพสำหรับการวิจัยข้ามสาขา และการทำงานเป็นทีม ด้วยโครงงาน "เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช" โดยมีอาจารย์ ที่ปรึกษานายนิรันดร์ เหลืองสวรรค์ ในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนในระดับนานาชาติ The Intel International Science and Engineering Fair 2019 (Intel ISEF) ที่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,800 คน จาก 80 ประเทศมาร่วมแข่งขัน

Grand Awards Ceremony 190520 0005

          ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า จากการสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พร้อมด้วยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม ได้นำเยาวชนจำนวน 17 ทีม เข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนในระดับนานาชาติ The Intel International Science and Engineering Fair 2019 (Intel ISEF) ระหว่างวันที่ 12 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ณ เมืองฟินิกส์ รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการประกวดโครงงานแบ่งออกเป็น 22 สาขา อาทิ ชีวภาพ สัตวศาสตร์ วัสดุศาสตร์ เคมี คณิตศาสตร์ พืชศาสตร์ วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ระบบสมองกลฝังตัว ซอฟต์แวร์ระบบ

Grand Awards Ceremony 190520 0018

          โดยในปีนี้เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 8 รางวัลด้วยกัน ได้แก่ 1.รางวัลที่ 3 สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ด้านพืชวิทยา และรางวัลสเปเชียลอวอร์ด จาก Sigma Xi ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพสำหรับการวิจัยข้ามสาขา และการทำงานเป็นทีม ด้วยโครงงาน "เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช" ซึ่งเป็นผลงานของ นายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ และนางสาวสุทธิดา เอี่ยมสอาด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา อาจารย์ที่ปรึกษานายนิรันดร์ เหลืองสวรรค์ 2. รางวัลที่ 3 วิทยาศาสตร์กายภาพ ด้านพลังงาน-กายภาพ ด้วยโครงงาน “กังหันลมแบบไฮบริดสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าและเทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยวงแหวนแม่เหล็กถาวร” ซึ่งเป็นผลงานของ นายรังสิมันต์ กุลเพชรจิระ และนายจิตรภณ ขจรภิรมย์ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก อาจารย์ที่ปรึกษา นายสุวิทย์ กิระวิทยา 3. รางวัลที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ด้านพืชวิทยา ด้วยโครงงาน “การพัฒนาไฮโดรเจลสำหรับกำจัดหอยที่เป็นศัตรูพืชในทางการเกษตรจากยางไม้ในท้องถิ่น” ซึ่งเป็นผลงานของ นางสาวนัทธมน ศรีพรม นางสาวรมิตา เชื้อเมืองพาน และนางสาวพันธ์อนงค์ ชื่นโชคชัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย อาจารย์ที่ปรึกษา นายสุธิพงษ์ ใจแก้ว 4. รางวัลที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ด้านเคมีวิทยา ด้วยโครงงาน “การพัฒนานวัตกรรมชุดทดสอบเซนเซอร์เชิงสีเพื่อตรวจวัดปริมาณคลอรามีนในสระว่ายน้ำโดยตรง : แนวคิดใหม่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ” ซึ่งเป็นผลงานของนางสาวอธิชา สันติลินนท์ นายณัฐประวีร์ ปัถยาวิชญ์ และนายณภัทร สัจจมงคล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม อาจารย์ที่ปรึกษา นายเกียรติภูมิ รอดพันธ์ 5. รางวัลที่ 4 วิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาระบบซอร์ฟแวร์ ด้วยโครงงาน “การประมาณน้ำหนักเนื้อข้าวโพดหวานจากรูปภาพดิจิทัล ด้วยวิธีการอินทิกรัลแบบหมุนรอบแกน” ซึ่งเป็นผลงานของ นางสาวณีรนุช สุดเจริญ นางสาวชนิกานต์ พรหมแพทย์ และนางสาวพรชนัญญ์ มั่งมีธนพิบูลย์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี อาจารย์ที่ปรึกษา นายศักดิ์นรินทร์ จันทร์นาค และนายจิรคุณ เอิบอิ่ม 6. รางวัลสเปเชียลอวอร์ด จาก USAID from the American People ด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ด้วยโครงงาน “การพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง” ซึ่งเป็นผลงานของ นางสาวน้ำผึ้ง ปัญญา นายพิรชัช คชนิล และนายเจษฎา สิทธิขันแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย อาจารย์ที่ปรึกษา นายเกียรติศักดิ์ อินราษฏร 7. รางวัลสเปเชียลอวอร์ด จาก สมาคมเคมีอเมริกัน ด้วยโครงงาน “การสังเคราะห์อนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนจากน้ำมันหมูเหลือใช้เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเล” ซึ่งเป็นผลงานของ นายปุถุชน วงศ์วรกุล นายชวิศ แก้วนุรัชดาสร และนางสาวภัทรนันท์ บุญชิต โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง อาจารย์ที่ปรึกษา นายภานุพงศ์ ภูทะวัง
          ผศ.ดร.รวิน ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนที่ได้รับรางวัลทุกคน รางวัลเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างกำลังใจให้แก่เรา แม้ว่าเราจะพลาดรางวัลในครั้งนี้ ก็มิได้หมายความว่า เราไม่เก่ง การได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกที่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากทั่วโลกที่มีภูมิหลัง มุมมอง และภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันมารวมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดสร้างเสริมประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ถือเป็นรางวัลที่มีค่ากับเยาวชนทุกคน สุดท้ายนี้ขอให้เยาวชน พึงระลึกเสมอว่า ทุกคนจะต้องเติบโตเป็นอนาคตของชาติ การที่ประเทศไทยจะก้าวหน้าต่อไปต้องพึ่งพลังความคิดจาก นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ หวังว่าโครงงานที่เยาวชนได้พัฒนาขึ้นจะถูกพัฒนาต่อไปและถูกนำมาใช้งานจริงเพื่อพัฒนาประเทศของเราต่อไป”

plnt056t

         ทั้งนี้ ตัวแทนเยาวชนที่ได้รับรางวัลได้พูดถึงผลงานของตนเอง ดังนี้ นายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ จากโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานของกลุ่มตนว่า ผักหวานป่าเป็นผักเศรษฐกิจที่มีผู้คนนิยมรับประทานกันมาก เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แต่มีปริมาณผลผลิตที่ได้ค่อนข้างต่ำซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จากการศึกษา พบว่าอัตราการรอดชีวิตของต้นอ่อนผักหวานป่าค่อนข้างต่ำ เนื่องจากการเสียหายของรากของต้นอ่อนผักหวานป่าขณะย้ายจากถุงเพาะชำพลาสติกลงปลูกในดิน ส่งผลให้ต้นอ่อนส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ จึงได้ทดลองทำเบ้ากุดจี่เทียมที่ผลิตจากมูลโคที่ผสมกับดินเหนียวแล้วนำมาปั้นขึ้นรูปเป็นทรงกลม ภายในบรรจุเส้นใยของลำต้นมันสำปะหลังจากนั้นจึงเติมเชื้อรา T. harzianum ซึ่งมีส่วนช่วยในการเติบโตของต้นอ่อนผักหวานป่า นอกจากนี้ ยังได้นำผงที่ได้จากใบสะเดานำไปทารอบๆ บริเวณด้านนอกของเบ้ากุดจี่เทียม เพื่อป้องกันการทำลายของปลวก ผลปรากฏว่า การใช้เบ้ากุดจี่เทียมแทนถุงพลาสติกจะช่วยให้อัตราการรอดและการเจริญเติบโตของต้นอ่อนผักหวานป่าดีกว่าการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนการลดการใช้ถุงพลาสติกในการเพาะต้นอ่อนผักหวานป่า และยังสนับสนุนแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

hybridized

          นายรังสิมันต์ กุลเพชรจิระ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานของกลุ่มตนว่า พลังงานลมเป็นพลังงานสะอาดที่สามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างไม่จำกัด แต่ข้อจำกัดของพลังงานลมนั้นคือความผันผวนของความเร็วลมทำให้ความต่อเนื่องในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง เนื่องจาก เมื่อความเร็วลมต่ำกังหันลมจะไม่หมุน และเมื่อความเร็วลมสูง อาจก่อให้เกิดปัญหากับกังหันลมได้ ดังนั้น เราจึงแก้ปัญหานี้โดยการคิดค้นระบบไฮบริด โดยเมื่อความเร็วลมต่ำ เราจะใช้มอเตอร์มาช่วยหมุนกังหันลมชั่วคราวและเมื่อสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไปได้เราจะหยุดการใช้มอเตอร์ แต่หากความเร็วลมสูง เราจะใช้เจนเนอเรเตอร์ เพื่อลดความเร็วกังหันลมให้ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ดังนั้น กังหันลมไฮบริดสามารถติดตั้งได้ทั้งในพื้นที่ชนบท ชมชนเมือง และพื้นที่ๆ มีความเร็วลมต่ำ

plnt057t
          นางสาวนัทธมน ศรีพรม โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานของกลุ่มตนว่า โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กำจัดหอยทากศัตรูพืชในทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ไฮโดรเจลจากยางไม้ร่วมกับสารสกัดซาโปนินจากพืชในท้องถิ่น โดยใช้ไฮโดรเจลจากยางไม้เป็นสารควบคุมการปลดปล่อยสารซาโปนินให้มีความสม่ำเสมอและคงตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดหอย จากการศึกษา ด้วยการทดลองเปรียบปริมาณสารสกัดซาโปนินจากผลชาน้ำมัน ผลมะคำดีควายและผลส้มป่อย พบว่า ผลชาน้ำมันให้ผลผลิตมากที่สุด จากนั้นได้ทำการศึกษาคุณสมบัติของไฮโดรเจลจากยางมะกอกป่าเปรียบเทียบกับโซเดียมอัลจิเนต พบว่า ไฮโดรเจลจากยางมะกอกป่าสามารถอุ้มสารสกัดซาโปนินได้มากกว่าไฮโดรเจลโซเดียมอัลจิเนต และสามารถควบคุมการปลดปล่อยสารสกัดซาโปนินเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และสูงกว่าระดับความเข้มข้นที่สามารถกำจัดหอยได้นานถึง 16 ชั่วโมง แม้จะถูกชะล้างด้วยน้ำมากกว่าถึง 5 ครั้ง นอกจากนี้ เจลดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อไส้เดือนดินและพืชทดลอง และมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าสารเคมีที่จำหน่ายตามท้องตลาด ดังนั้น นวัตกรรมนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการประหยัดค่าใช้จ่ายในการกำจัด หอยทาก และประสิทธิภาพของเจลยังคงทนต่อการชะล้างทำให้สามารถใช้งานได้นานรวมถึงไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์จากยางมะกอกป่าร่วมกับสารสกัดซาโปนินจากพืชในท้องถิ่น

plnt058t 1

         นายพิรชัช คชนิล โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานของกลุ่มตนว่า โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง โดยทำการศึกษาสมบัติของยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ ได้แก่ ยางมะกอกป่า ยางงิ้วป่า และยางมะค่า กับกัวกัมและพอลีอะคิเลต พบว่ายางมะกอกป่ามีการดูดซับน้ำ และการอุ้มน้ำ สูงกว่ายางไม้ชนิดอื่นๆ และสามารถย่อยสลายได้เร็วกว่าพอลีอะคริเลตซึ่งเป็นพอลีเมอร์สังเคราะห์ นอกจากนี้ พบว่าการเคลือบเมล็ดพันธุ์ด้วยยางยางมะกอกป่าจะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของแมลง การเกิดเชื้อรา และช่วยในการอุ้มน้ำของเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ได้ดีกว่าการเคลือบเมล็ดพันธ์ข้าวด้วยยางไม้อีกสองชนิด ดังนั้น ความรู้ที่ได้จากโครงงานนี้จะเป็นแนวทางในการช่วยเกษตรสามารถปลูกข้าวได้ในสภาพแวดล้อมที่ที่แห้งแล้งได้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการลดการใช้น้ำในการเพาะปลูก

fourth place Phy

         นางสาวอธิชา สันติลินนท์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานตนเองว่า คลอรามีนคือสารที่สามารถพบได้ทั่วไปในสระว่ายน้ำ โดยเกิดขึ้นจากคลอรีนทำปฏิกิริยากับสารประเภทเอมีน คลอรามีนเป็นสารที่ทำให้เกิดกลิ่นในสระว่ายน้ำ ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวและดวงตา และจากการศึกษา in vitro ยังสามารถก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ ซึ่งวิธีทั่วไปในการวัดปริมาณคลอรามีนในน้ำ วัดจากการหาปริมาณคลอรีนทั้งหมดลบด้วยปริมาณคลอรีนอิสระ ซึ่งอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและต้องสูญเสียทรัพยากรน้ำในบางกรณีที่ไม่จำเป็น ดังนั้นโครงงานนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาชุดทดสอบที่สามารถตรวจวัดคลอรามีนโดยตรง จึงได้มีการพัฒนาสู่ชุดทดสอบที่ทดสอบด้วยสารละลายโซเดียมซาลิซิเลตรีเอเจนต์ แล้วจึงใส่สารละลายโซเดียมไอโอไดด์กับแป้งตามลงไป ถ้าในน้ำทดสอบมีคลอรามีนเกินเกณฑ์ที่กำหนดสารจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน แต่ถ้ามีปริมาณคลอรามีนน้อยกว่าเกณฑ์กำหนดจะยังคงเป็นใสไม่มีสี ซึ่งได้ผลการทดสอบที่มีประสิทธิภาพในการตรวจวัดปริมาณคลอรามีนโดยตรง ผลงานวิจัยโดยสรุป ชุดทดสอบนี้จึงประสบความสำเร็จในการใช้วัดปริมาณคลอรามีนโดยตรง ได้ถึงระดับ 3 ppm ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานของสระว่ายน้ำส่วนใหญ่ และยังสามารถปรับระดับเกณฑ์การวัดคลอรามีนได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน จึงสามารถใช้ได้จริงกับสระว่ายน้ำในทุก ๆ แห่ง

soft050t 1

         นางสาวณีรนุช สุดเจริญ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เพชรบุรี อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานตนเองว่า ในอุตสาหกรรมการแปรรูปข้าวโพดหวาน จะคัดเฉพาะข้าวโพดหวานฝักสมบูรณ์มาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น ข้าวโพดหวานกระป๋อง ข้าวโพดหวานแช่แข็ง และข้าวโพดหวานในถุงสุญญากาศ หนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการคัดเลือกข้าวโพดหวานฝักสมบูรณ์ คือ การตรวจสอบและชั่งน้ำหนักข้าวโพดหวาน ซึ่งต้องใช้แรงงานคน และเวลาในการคำนวณหาน้ำหนักเนื้อข้าวโพดหวานค่อนข้างมาก โครงงานนี้ จึงได้ทำการศึกษากระบวนการประมวลผลจากภาพดิจิทัลด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์เพื่อช่วยในการคำนวณหาน้ำหนัก ความยาวและความกว้างของฝักข้าวโพด เพื่อคัดเลือกฝักข้าวโพดสำหรับการแปรรูปแบบต่างๆ เพื่อลดแรงงานคนและระยะเวลาการแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการออกแบบโปรแกรมคำนวณหาน้ำหนักเนื้อข้าวโพดหวาน 2 วิธี คือ การหาความสัมพันธ์ระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของฝักและน้ำหนักของเนื้อข้าวโพดหวาน และอีกวิธีคือการอินทิกรัลแบบหมุนรอบแกน โดยข้าวโพดหวานที่ลำเลียงบนสายพานจะถูกบันทึกภาพจากกล้องวิดีโอ และทำการปรับภาพสีเป็นภาพขาวดำเพื่อแยกภาพฝักข้าวโพดหวานออกจากพื้นหลัง จากนั้นระบบจะประมวลผลจากภาพดิจิทัลที่ได้และแสดงผลลัพธ์เป็น ความยาวของฝัก ความกว้างของฝัก และน้ำหนักเนื้อข้าวโพดหวานโดยทันที ซึ่งน้ำหนักเนื้อข้าวโพดหวานที่ได้จากการประมวลผลจากภาพดิจิทัลด้วยสองวิธีการทางคณิตศาสตร์เมื่อเทียบกับน้ำหนักเนื้อข้าวโพดหวานจริง พบว่า วิธีการอินทิกรัลแบบหมุนรอบแกนสามารถคำนวณน้ำหนักของเนื้อข้าวโพดหวานได้ใกล้เคียงกว่าการหาความสัมพันธ์ระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของฝักและน้ำหนักของเนื้อข้าวโพดหวาน ดังนั้น การคำนวณด้วยวิธีการอินทิกรัลแบบหมุนรอบแกนสามารถช่วยลดแรงงานคนและระยะเวลาการคำนวณหาน้ำหนักเนื้อข้าวโพดหวานได้ จึงทำให้ขั้นตอนการจำแนกข้าวโพดหวานเพื่อนำไปแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

egch036t

         นายปุถุชน วงศ์วรกุล โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาผลงานตนเองว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีแนวโน้มที่จะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในอนาคต ทำให้เราต้องนำเข้าพลังงานไฟฟ้าบางส่วนจากประเทศลาว เพื่อให้มีกระแสไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น โครงงานนี้จึงมีแนวคิดที่จะศึกษา การผลิตเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเลเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ไม่มีวันหมด โดยการสังเคราะห์และติดตั้งตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยานี้ได้จจากการสังเคราะห์จากการนำแท่งเหล็กและน้ำมันหมูเหลือใช้มาผ่านกระบวนการสลายพลาสมา จากนั้นนำอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนที่สังเคราะห์ได้มาศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพของมัน เมื่อเรามีอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนที่มีคุณภาพดีจะช่วยในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเลได้ดียิ่งขึ้น