สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวในโอกาสครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้ง

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวในโอกาสครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้ง

08-12-2021
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวในโอกาสครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้ง

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวในโอกาสครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้ง ยืนหยัดเดินหน้า รวมพลังด้านวิชาการของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย สู่สังคมแห่งความรู้และนวัตกรรม ตอบรับนโยบาย Thailand 4.0

IMG 2444

รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงความสำคัญของปี พ.ศ. 2561 นี้ว่ามีความสำคัญยิ่งด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย เพราะเป็นโอกาสที่ครบรอบ 150 ปีแห่งการเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ หว้ากอ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความสนพระทัยและมีพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพสูงยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านดาราศาสตร์ โดยทรงสามารถคำนวณตำแหน่งและเวลาของการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยได้อย่างแม่นยำก่อนเกิดเหตุการณ์จริงถึง 2 ปี และได้นำคณะทูตานุทูตไปร่วมสังเกตการณ์ดังกล่าว ณ หว้ากอ อ.คลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ ยังทรงกำหนดเวลามาตรฐานกรุงเทพ จัดทำหอสังเกตดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เพื่อกำหนดเวลา ทรงพัฒนาปฏิทินจันทรคติสำหรับใช้ในพิธีการ ทรงให้มีการประกาศแก่ประชาชนเรื่องการเกิดดาวหาง และฝนดาวตกโดยอธิบายว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ ด้วยพระอัจฉริยภาพและเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ ทางสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้เสนอขอให้มีการเทิดพระเกียรติพระองค์ในฐานะพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2525 รวมทั้งให้วันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่เกิดสุริยุปราคานั้น เป็นวันวิทยาศาสตร์ไทยสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

IMG 2445

นอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นปีที่สมาคมฯ ก่อตั้งครบ 70 ปี โดยจุดเริ่มต้นจากแนวคิดในการกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักว่า จะต้องขยายความรู้ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ให้มีรากฐานที่แพร่ไพศาล จึงได้เกิดการรวมกลุ่มของนักวิทยาศาสตร์ และก่อตั้งเป็นชุมนุมวิทยาศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2477 โดยมีนายเจริญ ธรรมพานิช เป็นประธานชมรมคนแรก จากนั้นก็ได้มีกิจกรรมร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องและได้มีมติจัดตั้งเป็นสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Science Society of Siam)  เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2491 โดยมี ม.จ.รัชฎาภิเศก โสณกุล เป็นนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยคนแรก จึงถือเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการที่ต้องการส่งเสริมและขับเคลื่อนกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ทั้งด้านวิชาการ และด้านการสร้างความสนใจทางวิทยาศาสตร์แก่สังคม และต่อมาในปี พ.ศ.2494 สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยระหว่าง 70 ปีที่ผ่านมา สมาคมวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทย ในด้านต่าง ๆ และเป็นจุดริเริ่มกิจกรรมสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้  ในโอกาสครบรอบ 70 ปีสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ฯ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้รำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลาที่สำคัญของประเทศ และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ เองก็ถือเป็นโอกาสที่จะยืนยันบทบาทและความมุ่งมั่นที่จะร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการสนับสนุนสังคมด้านวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้าต่อไป

IMG 2448

รองศาสตราจารย์ ดร.สายวรุฬ ชัยวานิชศิริ ประธานการจัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในปีนี้ กล่าวว่า สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ  ถือเป็นสมาคมด้านวิชาการที่เก่าแก่ และมีผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่องยาวนาน โดยได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2514 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นครั้งที่ 44 ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 29-31 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ในงานจะได้มีการรับพระราชทานรางวัลสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น นักวิทยาศาสตร์อาวุโส นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น และโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติยิ่ง แต่ที่พิเศษมากสำหรับปีนี้ คือ เป็นวาระครบ 25 ปี ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จขั้วโลกใต้ โดยพระองค์นอกจากจะเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานแล้วยังมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นองค์ปาฐกในงานอีกด้วย และจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ไปสำรวจขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประชุม วทท เป็นโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกและนักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้นำเสนอผลงานแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมอง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เวทีนานาชาติ ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่จะได้นำผลงานออกเผยแพร่และนำเสนอ หากประเทศไทยจะสร้างความพร้อมด้านงานวิจัยและพัฒนาแล้ว การเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้ฝึกนำเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดการบูรณาการและการต่อยอดองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการนำไปใช้จริง  งานในปีนี้ยังมีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุกการจัดงานรวมทั้งคัดสรรงานวิจัยที่น่าสนใจเพื่อให้กำลังใจในการต่อยอด

IMG 2455

รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยภูมิภาคและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนส่งเสริมกิจกรรมเยาวชน ให้มีการประกวดแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ เช่น การประกวดโครงงาน การประกวดการตอบคำถาม การแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์  การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ  กิจกรรมเหล่านี้ มีการขยายผลมากขึ้นและมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ระดมความรู้มาช่วยกันพิจารณาและตัดสิน เพื่อให้เป็นมาตรฐานโครงงานคุณภาพของประเทศ  ถือเป็นการยกมาตรฐานการจัดกิจกรรมประกวดต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นและขยายผลสู่ทั่วทุกพื้นที่โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  และภาคเอกชน เช่น บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น นอกจากนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ยังได้รับเกียรติให้คัดเลือกนักเรียนเข้ารับการคัดเลือกเพื่อไปดูงานที่สถาบันเซิร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นโครงการในสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

IMG 2447

ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า อพวช. ได้ทำงานร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ มาอย่างต่อเนื่องในหลายโครงการโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และการสร้างแรงบันดาลใจกับเยาวชนซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ อพวช. เช่น ในโครงการ Thai Science Camp  , ASEAN Science Project Competition รวมทั้งการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับเยาวชน โดยในปีที่ผ่าน ๆ มายังได้ส่งเสริมให้มีการเพิ่มเติมประสบการณ์แก่เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกในระดับประเทศ ให้ได้ไปร่วมการประกวดในงานนานาชาติ เช่น Intel International Science and Engineering Fair ซึ่งถือเป็นงานการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และมีคุณภาพที่สุดในโลก ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับหน่วยงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ อพวช. และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ส่งเยาวชนไปร่วมกิจกรรม และเยาวชนไทยเองก็ได้รับรางวัลที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่องเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ และทำให้เกิดกำลังใจกับทั้งครูและเยาวชนว่าเด็ก ๆ ของเราสามารถเรียนรู้และทัดเทียมนานาประเทศในด้านการแก้ปัญหาโครงงานวิจัย ในปี 2561 นี้ ทางสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ยังได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เดินหน้าสนับสนุนและบ่มเพาะเยาวชนในด้านโครงงานวิทยาศาสตร์ ในการให้รางวัล Prime Minister Youth Science Award ซึ่งเป็นโอกาสในการต่อยอดให้เยาวชนที่มีศักยภาพด้านการคิดวิเคราะห์และพัฒนางานวิจัย ได้พัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ เพื่อทำให้งานวิจัยมีความเฉียบคมและอาจนำไปสู่การนำไปใช้จริงในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรม

IMG 2454

รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ยังเสริมว่า นอกจากนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ยังดำเนินกิจกรรมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความสนใจและการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคม โดยการจัดทำหนังสือและวารสารด้านวิทยาศาสตร์  โดยวารสารวิทยาศาสตร์นั้นได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2490 แจกจ่ายให้กับสมาชิกของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ และโรงเรียนต่าง ๆ มีบทความและข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งน่าจะสมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2559 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานลายพระหัตถ์เป็นปกหนังสือ ซึ่งนำความปลื้มปิติให้กับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ และคณะผู้จัดทำหนังสืออย่างยิ่ง นอกจากนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ยังผลิตหนังสือเผยแพร่บทความวิชาการ ScienceAsia ซึ่งถือเป็นวารสารวิชาการที่มีการยอมรับเป็นอย่างดีในระดับภูมิภาค เนื่องจากมีกองบรรณาธิการที่มีคุณภาพสูง ปัจจุบันวารสารดังกล่าว เป็นวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก  

IMG 2457

ในโอกาสพิเศษปี 2561 นี้ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้กำหนดจัดงานกาล่า โดยจะมีปาฐกถาพิเศษโดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ให้เกียรติเป็นองค์ปาฐก และในปีที่พิเศษนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ กำลังจัดทำหนังสือฉบับพิเศษเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 70 ปี โดยได้รวบรวมเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศที่เกี่ยวข้องกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีวิชาการทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี  และได้ร่วมมือกับ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดทำหนังสือรวบรวมโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้ส่งประกวดในเวทีนานาชาติ ซึ่งจะเปิดตัวในสัปดาห์วิทยาศาสตร์เดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ยังจะได้จัดทำหนังสือที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 150 ปี การเสด็จทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคา ณ หว้ากอ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือว่าจะเป็นหนังสือรวบรวมเรื่องราวการเริ่มต้น การเกิดอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแผนการพัฒนาหว้ากอในอนาคต ที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง  หนังสือเล่มนี้จะได้เผยแพร่ในการจัดงานใหญ่ช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์ในเดือนสิงหาคมปีนี้ ซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ รวมพลังกันจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย 

IMG 2456

สุดท้าย ท่านนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ขอให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะมีขึ้นตลอดทั้งปี ทั้งงานเฉลิมฉลอง 150 ที่หว้ากอ ในระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม ที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และงาน วทท ครั้งที่ 44  ซึ่งเพิ่งเปิดรับการนำเสนอผลงาน และผู้สนับสนุน โดยมีกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยสามารถติดตามข่าวสารและลงทะเบียนได้ที่ www.scisoc.or.th

ข่าวสารที่่คล้ายกัน