24 เมษายน 2566 /ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เป็นประธานมอบรางวัลในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยา ระดับประเทศ ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “ธัญพืช ของขวัญจากธรรมชาติ” ผลปรากฏว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 (บ้านเอก) จ.เชียงใหม่ คว้าชัยในโครงงานเรื่อง “ความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จากธัญพืชที่ปลูกในอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่” พร้อมรับทุนการศึกษา 10,000 บาท ณ ห้อง IT Auditorium พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี
ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เผยว่า “NSM ร่วมกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเวทีให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงศักยภาพการสื่อสารและถ่ายทอดเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ผ่านการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ โดยในรอบชิงชนะเลิศปีนี้มีเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเข้าร่วมชิงชัยจำนวนกว่า 40 ทีมจากทั่วประเทศ ซึ่งผลปรากฏว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 (บ้านเอก) จ.เชียงใหม่ เป็นผู้คว้าชัยในโครงงานเรื่อง “ความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จากธัญพืชที่ปลูกในอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่” มีสมาชิกในทีม คือ เด็กหญิงจารียาภรณ์ เทพมา และเด็กชายนวพิธพร ผ่องใส และคุณครูกิ่งกาญจน์ กันนาง เป็นครูที่ปรึกษา ได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
“NSM รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติให้กับเยาวชน และขอแสดงความยินดีกับเยาวชนได้รับรางวัลในครั้งนี้ โดยหวังว่าน้อง ๆ เยาวชน จะนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาในพื้นที่ท้องถิ่นหรือภูมิภาคของตนเองต่อไป” ดร.ชนินทร กล่าว
ด้านเด็กหญิงจารียาภรณ์ เทพมา ตัวแทนทีมจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 (บ้านเอก) จ.เชียงใหม่ เผยที่มาของโครงงานนี้ว่า “สืบเนื่องมาจากในปัจจุบันธัญพืชพื้นบ้านในอำเภอแม่อายมีแนวโน้มสูญหาย นอกจากนี้ยังมีกระแสนิยมการบริโภคธัญพืชที่นำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น ตนและเพื่อน ๆ จึงเกิดความสนใจที่จะศึกษาความหลากหลายของธัญพืชที่ปลูกในอำเภอแม่อาย เพื่อให้ได้ข้อมูลด้านความหลากหลายของธัญพืชที่จะมีประโยชน์ในการวางแผนอนุรักษ์ธัญพืชดั้งเดิมที่กำลังจะสูญพันธุ์ และช่วยฟื้นฟูการปลูกธัญพืชพื้นบ้านให้คงความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ และความหลากหลายทางนิเวศ ซึ่งโครงงานฯ ดังกล่าว ได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างธัญพืชกับวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ในอำเภอแม่อายในอดีตและปัจจุบัน ที่แสดงถึงคุณค่าของธัญพืชในท้องถิ่น ทั้งยังสามารถต่อยอดให้กับชุมชนในพื้นที่ในการสร้างรายได้ และส่งเสริมภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากธัญพืชได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
ผลรางวัลการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยา ประจำปี 2566 มีดังนี้
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
ได้แก่ โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล จ.นครพนม ในโครงงาน “การศึกษาชนิดของพืชพื้นถิ่นที่ให้คาร์โบไฮเดรตในเขตอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม” สมาชิกในทีม ได้แก่ เด็กหญิงกชพรรณ ยางธิสารเด็กหญิงพีรญา แสนเขื่อน และครูที่ปรึกษา คุณครูธิดารัตน์ โคตรโยธี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
ได้แก่ โรงเรียนสรรพวิทยาคม จ.ตาก ในโครงงาน “มหัศจรรย์ฟิล์มชีวภาพและพลาสติกชีวภาพจากถั่วแปะยี” สมาชิกในทีม ได้แก่ เด็กหญิงจิรฐา อภัยกุญชร เด็กหญิงทินรัตน์ ชัยดี และครูที่ปรึกษา คุณครูณัฐวดี ทาหลี
รางวัลชมเชย
ได้แก่ โรงเรียนสุรวิทยาคาร จ.สุรินทร์ ในโครงงาน “การกําจัดมอดตัวร้ายทําลายข้าว” สมาชิกในทีม ได้แก่ เด็กชายณัฐภาส ธานีพูน เด็กชายธนกฤต ทมะนันต์ และครูที่ปรึกษา คุณครูนงณภัส เงางาม
รางวัลชมเชย
ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ในโครงงาน “การศึกษาสีย้อมโครโมโซมในปลายรากหอมจากถั่วดำ” สมาชิกในทีม ได้แก่ เด็กหญิงกรชนก ระวิโรจน์ เด็กชายชวลิต สุขหอม และครูที่ปรึกษา คุณครูลัดดา กลางประพันธ์